ถ้าพูดถึงอนิเมชั่นแล้ว คงต้องยกให้ลูกพี่ใหญ่อย่างญี่ปุ่นเขาล่ะครับ เพราะเขาทำมันจริงจังพอๆ กับหนังใหญ่ อุตสาหกรรมอนิเมชั่นของญี่ปุ่นนั้นทำเงินปีละมหาศาล แค่ภายในประเทศก็ทำเงินไม่รู้ปีละเท่าไหร่ รวมถึงอนิเมชั่นที่ส่งออกไปทั่วโลก ที่สร้างความประทับใจให้ผู้ชมทั่วโลก อนิเมชั่นของญี่ปุ่นจึงเป็นมากกว่าแค่การ์ตูนทั่วไปสำหรับเด็ก
อนิเมชั่นของญี่ปุ่นนั้นเขาไม่ได้ทำขึ้นมาให้เด็กดูอย่างเดียว แต่ยังมีอนิเมชั่นเนื้อหาหนักๆ ที่น่าประทับใจอีกหลายเรื่อง
Wolf Children Ame and Yuki คือเรื่องล่าสุดที่ผมได้ดู รู้ข่าวมาก่อนว่าเรื่องนี้เป็นที่ยกย่องมากในญี่ปุ่น แล้วก็เพิ่งคว้ารางวัล 2013 Japan Academy Prize for Animation of the Year และ 2012 Mainichi Film Award for Best Animation Film ถ้าเป็นขาประจำอนิเมชั่นญี่ปุ่นน่าจะนึกถึง Studio Ghibli แต่ Wolf Children เรื่องนี้เป็นผลงานของ Studio Chizu
Wolf Children ว่าด้วยเรื่องของ Single Mom ฮานะ ที่ต้องออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อเลี้ยงดูลูกเล็กๆ ทั้งสอง ปัญหาคือพ่อของเด็กไม่ใช่ผู้ชายธรรมดา แต่เขาเป็นมนุษย์หมาป่าตัวสุดท้ายของญี่ปุ่น ลูกๆ ทั้งสอง ยูกะ กับ อาเมะ ก็คือมนุษย์หมาป่าสองตัวสุดท้ายในญี่ปุ่น เมื่อวันหนึ่งพ่อของทั้งคู่เสียชีวิต ปล่อยให้ฮานะต้องรับภาระเลี้ยงดูเด็กๆ ทั้งสองเพียงลำพัง
ท่ามกลางชีวิตในเมืองใหญ่ ฮานะประสบปัญหาอย่างหนักในการเลี้ยงดูเด็กทั้งสองที่นับวันจะเติบโตขึ้นท่ามกลางความลังเลว่าจะเป็นมนุษย์หรือเป็นหมาป่า อย่างตอนที่ยูกะไม่สบาย ฮานะก็สับสนว่าจะพาลูกไปหาหมอเด็กหรือไปหาสัตวแพทย์ดี
ฮานะแก้ปัญหาด้วยการอพยพไปอยู่บ้านนอก ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนเดียว กับลูกเล็กอีกสองคน ต้องเผชิญความลำบากกับชีวิตในชนบท เธอต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ทั้งหมด ต้องทำสวนทำไร่ทั้งที่ไม่เคย แต่ทั้งหมดก็เพื่อรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับสามี “เราจะร่วมกันเลี้ยงเขาทั้งคู่ให้มีความสุข”
ครึ่งแรกของเรื่องโฟกัสไปที่ชีวิตของคุณแม่มือใหม่อย่างฮานะ ที่ต้องเลี้ยงดูลูกเล็กทั้งสองที่จะแปลงเป็นหมาป่าเมื่อไหร่ก็ได้ตามแต่ใจ เธอต้องคอยระแวดระวังไม่ให้ใครรู้ความลับ แต่เด็กๆ ก็มัวแต่เล่นสนุกและตื่นเต้นไปกับชีวิตใหม่ในชนบท โดยเฉพาะยูกะที่จะร่าเริงเป็นพิเศษ เมื่อได้กระโดดโลดเต้นวิ่งเล่นในทุ่งกว้างตามประสาหมาป่า ผิดกับอาเมะที่ติดแม่และอ่อนแอกว่าพี่สาว
แม้จะลำบากสักแค่ไหน แต่โชคดีที่ฮานะได้พบกับชาวบ้านผู้อารี ในที่สุดเธอก็สามารถยืนหยัดอยู่ได้ อย่างมีความสุขตามอัตภาพ จนกระทั่งเมื่อลูกๆ เริ่มเติบโตขึ้น
สถานการณ์กลับเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงในช่วงครึ่งหลังของเรื่อง ยูกะที่ตอนเด็กชื่นชอบชีวิตในป่าตามประสาหมาป่า กลับพยายามทำตัวเป็นมนุษย์ เมื่อเธอไปโรงเรียนและใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนปกติ เธอเอ่ยปากว่าจะไม่ขอเป็นหมาป่าอีก ขณะที่อาเมะที่เคยอ่อนแอ กลับมีท่าทีแข็งกร้าวและสันโดษมากขึ้น เมื่อทั้งสองเติบโตจนถึงเวลาที่จะต้องเลือกทางเดินของตัวเองไม่ว่าจะเป็นเส้นทางของมนุษย์หรือหมาป่า ฮานะในฐานะแม่จะทำอย่างไร
ผมชอบตรงที่หนังเล่าเรื่องแนว Coming Age ได้อย่างเนียน แทนที่จะเล่าถึงเด็กสองคนที่เดินทางมาถึงทางแยกของชีวิตแบบทั่วๆ ไป แต่เพิ่มแง่มุมความขัดแย้งด้วยความที่ทั้งสองเป็นมนุษย์กึ่งหมาป่า ยูกะเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบมนุษย์ ส่วนอาเมะกลับเลือกที่จะเดินตามสัญชาตญาณหมาป่า แม้ฮานะจะหัวใจสลาย แต่เธอก็ยอมรับและให้กำลังใจลูกชาย จนเมื่อยูกะเติบโตเธอก็จากฮานะไปอีกคน เพื่อไปใช้ชีวิตตามเส้นทางที่เธอเลือก ทำให้ผมนึกถึงหนังสือ ปรัชญาชีวิต ของ คาลิล ยิบราน (Kahlil Gibran) ที่ว่า
บุตรของเธอ…ไม่ใช่บุตรของเธอ
เขาเหล่านั้นเป็นบุตรและธิดาแห่งชีวิต
เขามาทางเธอ แต่ไม่ได้มาจากเธอ
และแม้ว่าเขาอยู่กับเธอ แต่ก็ไม่ใช่สมบัติของเธอ
เธออาจจะให้ความรักแก่เขา แต่ไม่อาจให้ความนึกคิดได้
เพราะว่าเขาก็มีความนึกคิดของตนเอง
เธออาจจะให้ที่อยู่อาศัยแก่ร่างกายของเขาได้
แต่มิใช่แก่วิญญาณของเขา
เพราะว่าวิญญาณของเขานั้น อยู่ในบ้านของพรุ่งนี้
ซึ่งเธอไม่อาจเยี่ยมเยือนได้ แม้ในความฝัน…
เธออาจจะพยายามเป็นเหมือนเขาได้
แต่อย่าได้พยายามให้เขาเหมือนเธอ
เพราะชีวิตนั้นไม่เดินถอยหลัง
หรือห่วงใยอยู่กับวันวาน
เป็นอนิเมชั่นที่มีเนื้อหาเนียนมากๆ เรื่องหนึ่ง ส่วนของภาพก็โดดเด่นด้วยความเป็นการ์ตูน บางฉากผมยังรู้สึกว่าเขาเอาภาพจริงมาประกอบ หรือเขาจะใช้วิธีวาดก็ไม่รู้ แต่มันเนียนมากๆ อย่างฉากในป่า ต้นไม้ น้ำตก ช่างเหมือนจริงจนเล่นเอาเคลิ้ม ตัวละครก็วาดได้น่ารักน่าชัง โดยเฉพาะเด็กๆ ทั้งสอง
ใครพอจะหาดูได้ก็แนะนำครับ เป็นการ์ตูนดีๆ อีกเรื่องที่น่าจะดูกัน อาจจะเหมาะสำหรับผู้ใหญ่มากกว่าเด็กเล็ก ส่วนตัวผมเองก่อนดูนั้นก็คาดหวังไว้ที่ ๘ เต็ม ๑๐ แต่พอดูจบก็ให้ไปเลย ๙ และผมเชื่อว่าใครที่ได้ดูก็คงประทับใจไม่ต่างกัน