ถ้าคนที่ตายไปแล้วยังรับรู้ได้ เขาจะเสียใจแค่ไหนกันนะครับถ้ามีแต่คนสรรเสริญว่าตายไปเสียได้ก็ดี แบบนี้จะเรียกว่าโชคดีที่ตายก่อนได้ไหม เพราะจะได้ไมต้องรับรู้
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วอ่านเจอข่าวต่างประเทศเล็กๆ ที่คนไทยไม่สนใจ แต่คนทั่วโลกเขาสนใจกัน คือข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของ นายแอเรียล ชารอน (Arial Sharon) อดีตนายกรัฐมนตรีของอิสราเอล ด้วยวัย ๘๕ ปี หลังจากอยู่ในสภาพมนุษย์ผักมานานกว่า ๕ ปี กลุ่มคนที่สนใจข่าวนี้มากที่สุดเห็นจะเป็นชาวปาเลสไตน์ที่เฮกันทั้งบางเมื่อรู้ว่าฆาตกรตัวเอ้ที่พวกเขาเกลียดชังตายไปเสียแล้ว
การดำรงอยู่ของคนๆ หนึ่ง อาจเป็นได้ทั้งพระเจ้าและปีศาจสำหรับคนที่รายล้อม ผมเชื่อว่าชาวยิวก็คงชื่นชมและอาลัยรักนายชารอน ขณะที่ชาวปาเลสติเนียนคงดีใจที่เขาตาย เพราะพวกเขาแค้นนายชารอนหนักหนามาแต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่สมัยที่นายชารอนยังไม่ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยซ้ำไป นายชารอนนั้นสร้างชื่อจากการรับราชการทหาร เขาจัดเป็นขุนพลกระดูกเหล็กคนหนึ่งของกองทัพอิสราเอล ผ่านสมรภูมิมากแล้วมากมาย อายุเพียง ๑๙ ปี ก็เข้าร่วมรบในสงครามประกาศอิสรภาพในปี ๑๙๔๘ สงครามคลองสุเอซ ในปี ๑๙๕๖ สงคราม ๖ วัน ในปี ๑๙๖๗ และสงครามยัมคิปปูร์ ในปี ๑๙๗๖ สงครามส่วนใหญ่ก็มักจะรบกับประเทศมุสลิม แน่นอนว่าดินแดนแถบนั้นไม่มีใครชอบพวกยิวเท่าไหร่นัก แต่ก็ต้องยอมรับว่ายิวก้าวขึ้นมามีอิทธิพลอย่างมากทีเดียวในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ อีกทั้งยังมีพี่เบิ้มอย่างอเมริกาคอยให้ท้ายอีกต่างหาก
นายชารอน เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งรัฐยิวเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้ว เขาก้าวมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ ๑๑ ในปี ๒๐๐๑ ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคนที่ทรงอิทธิพลอย่างเขาทำถึงขึ้นมานั่งเก้าอี้ตัวนี้ช้านัก คนยิวและตะวันตกจะชื่นชมนายชารอนในฐานะที่เป็นนักการเมืองที่มีนโยบายประนีประนอมและพยายามสร้างความสงบในตะวันออกกลาง แต่กลุ่มประเทศอาหรับและปาเลสไตน์ได้แต่ร้องยี้ว่าประนีประนอมตรงไหน เพราะประวัติของนายชารอนคนนี้ชุ่มไปด้วยเลือดของผู้บริสุทธิ์

แอเรียล ชารอน สมัยหนุ่ม
ภาพจาก http://www.independent.co.uk
ต้องย้อนกลับไปในตอนที่ตะวันออกกลางยังคงรุนแรงกว่าปัจจุบันนี้หลายเท่า เขามีส่วนร่วมในปฏิบัติการสังหารหมู่ในค่ายผู้อพยพ Sabra & Shatila ที่กรุงเบรุต ประเทศเลบานอน ขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อิสราเอล มีคนตายในเหตุการณ์ครั้งนั้นหลายพันคน ส่วนใหญ่เป็นเพียงผู้อพยพชาวปาเลสไตน์และชาวเลบานอนที่ไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วย ว่ากันว่าเป้าหมายในปฏิบัติการครั้งนั้นคือการกำจัดผู้นำกลุ่มปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Palestine Liberation Organization : PLO) ว่ากันว่าอีกเหมือนกันว่าการสังหารครั้งนั้นไม่ใช่การทิ้งระเบิดปูพรมให้ตายๆ ไป แต่ใช้วิธีโหดกว่านั้นคือให้ทหารเดินดุ่ยๆ เข้าไปกระซวกให้ตาย ค่ำคืนนั้นจึงมีแต่เสียงหวีดร้องของเหยื่อที่ว่ากันอีกเหมือนกันว่ามีไม่ต่ำกว่า ๒,๕๐๐ คน!
น่าแปลกที่นายชารอนกลับรอดจากการถูกดำเนินคดีข้อหาอาชญากรสงครามอย่างหน้าตาเฉย แน่นอนว่าย่อมมีเสียงนินทาตามมาว่าเพราะมีอเมริกาคอยช่วยเหลือ เนื่องจากปฎิบัติการครั้งนั้นอเมริกาก็มีเอี่ยวด้วยนั่นเอง และหากย้อนกลับไปอีกในสมัยที่เขายังเป็นนายทหาร เขาก็เคยผ่านปฏิบัติการสังหารหมู่แบบนี้มาแล้วเหมือนกัน เหยื่อสังหารของเขาก็ไม่พ้นชาวอาหรับและชาวปาเลสไตน์ คู่แค้นของชาวยิว จึงไม่แปลกที่ทำไมเขาถึงเป็นที่จงเกลียดจงชังนักในหมู่คนปาเลสไตน์
ส่วนในหมู่ชาวยิวด้วยกันกลับมองว่าเขาคือฮีโร่ของชาติ อย่างน้อยความพยายามปกป้องแผ่นดินอิสราเอลและขับไล่ชาวปาเลสไตน์ก็เป็นสิง่ที่ทำให้ชาวยิวพอใจ นายชารอนถูกเพ่งเล็งอยู่เหมือนกันว่าอยู่เบื้องหลังแผนการกำจัดแกนนำปาเลสไตน์และกลุ่มฮามาส โดยเฉพาะการสั่งล้อมกรอบ นายยัตเซอร์ อาราฟัต ไม่ให้กระดิกไปไหนได้ จนต่อมานายอาราฟัตก็เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา ท่ามกลางเสียงกระซิบดังๆ ว่ามาจากฝีมืออิสราเอลนี่ล่ะ

นายชารอน (ขวา) จับมือกับ มามูส อับบาร์ต ผู้นำปาเลสไตน์
ในการเจรจาสันติภาพที่มี อเมริกา ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ เมื่อปี ๒๐๐๓
(ภาพจากสำนักข่าว AFP)
นายชารอนดำรงตำแหน่งท่ามกลางเสียงก่นด่าของศัตรูและเสียงสรรเสริญจากชาวอิสราเอลไปพร้อมๆ กัน จนในปี ๒๐๐๖ เขาก็มีอาการเลือดคั่งในสมอง และกลายเป็นมนุษย์ผักเรื่อยมาอีก ๕ ปี จนถึงวาระสุดท้ายเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ที่ผ่านมา
ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เรื่องร้ายๆ ในตะวันออกกลางจะสิ้นสุดนะครับ อยากให้คนไทยเห็นเป็นอุทาหรณ์กันเสียบ้าง ที่นั่นเขาเข่นฆ่ากันด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ แต่คนไทยด้วยกันกลับกำลังจะเชือดกันเองด้วยเหตุผลทางความคิดที่ประกาศชัดเจนว่าใครเห็นต่างจากกู ถือว่าผิดหมด อันนี้ก็น่าเศร้านะครับ
ติดตามอ่านเพิ่มเติมจากข้อเขียนชุด อิสราเอล-ปาไลสไตน์ มีทั้งหมดตั้ง ๖ ตอนเจ้าค่า
ตอนที่ ๑ l ตอนที่ ๒ l ตอนที่ ๓ l ตอนที่ ๔ l ตอนที่ ๕ l ตอนปฐมบท