มีภาพยนตร์อยู่สองเรื่องที่ผมคิดเสมอว่ามันช่างมีความคล้ายคลึงกันเหลือเกิน นั่นคือ Godfather และ Elezabeth ทั้งสองเรื่องว่าด้วยเรื่องของการก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของอำนาจ ว่าจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ในเรื่องแรกนั้นว่ากันถึงการแย่งชิงอำนาจของราชวงศ์อังกฤษส่วนเรื่องที่สองเป็นมหากาพย์แก๊งค์มาเฟียอิตาเลียน
ใน Godfather เล่าเรื่องราวการก้าวขึ้นมาเป็น ดอน (หมายถึงนายใหญ่) ของ ไมเคิล คอร์ลิโอเน่ ว่าเขาต้องผ่านพบอะไรมาบ้างกว่าจะมาถึงจุดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียคนรัก การทรยศหักหลัง และการกำจัดศัตรูให้พ้นทาง ซึ่งเนื้อหาที่ว่านี้ก็ยังมีอยู่ครบถ้วนใน Elizabeth เพียงแต่เปลี่ยนเป็นเจ้าหญิงอลิซาเบธที่ต้องผ่านบททดสอบมากมายจนก้าวมาเป็น The Virgin Queen ผู้ยิ่งใหญ่ จนอาจกล่าวได้ว่า Elizabeth ก็คือ Godfather ในภาคของผู้หญิงนั่นเอง
อำนาจที่ได้มาด้วยความจำยอม
ในช่วงที่อังกฤษภายใต้การปกครองของ ควีนแมรี่ที่ ๑ กำลังจะล่มสลาย เนื่องด้วยความปั่นป่วนทางการเมืองภายในราชสำนัก พระราชินีทรงพระประชวรหนัก อีกทั้งความต้องการเสรีภาพของประชาชนในเรื่องของการนับถือศาสนา คาธอลิกครองอำนาจไปทั่วแผ่นดิน ในขณะที่โปรแตสแตนท์ก็เริ่มเป็นที่นิยมในสังคม พระองค์พยายามอย่างยิ่งที่จะกวาดล้างพวกโปรแตสแตนท์ให้สิ้น โดยอ้างว่าคนพวกนี้เป็นพวกนอกรีต โดยเฉพาะ เจ้าหญิงอลิซาเบธ พระขนิษฐาต่างมารดาที่ได้รับการหนุนหลังจากฝ่ายโปรแตสแตนท์ให้ขึ้นครองบัลลังก์แทนหลังจากพระนางสิ้นพระชนม์
เจ้าหญิงอลิซาเบธ ถูกกันออกจากราชสำนัก ด้วยความที่ทรงเป็นพระราชธิดานอกสมรสของพระเจ้าเฮนรี่ที่ ๘ (ที่เรียกว่านอกสมรสเพราะ พระนางแอนน์ โบลีน มารดาของพระองค์ ไม่เป็นที่ยอมรับของราชวงศ์และวาติกัน) พระองค์เริ่มถูกจับตามองหลังจากที่บัลลังก์ของพระนางแมรี่ที่ ๑ เริ่มสั่นคลอน และเมื่อสืบสายสันตติวงศ์ก็ไม่มีใครเหมาะสมไปกว่าพระองค์ ในที่สุดพระนางแมรี่ที่ ๑ ตัดสินพระทัยฝากฝังราชบัลลังก์ให้กับพระขนิษฐาต่างมารดา เพราะอย่างไรเสียก็คงดีกว่าให้แผ่นดินตกอยู่ในมือของผู้อื่น
พระราชินีพระองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์อย่างกระทันหัน เดิมทีพระองค์มิต้องการบัลลังก์แต่อย่างใด หากเพียงต้องการใช้ชีวิตอย่างสงบสุขเพียงลำพัง แต่ด้วยความเป็นหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ เมื่อต้องทำหน้าที่นี้ พระองค์ก็ทำได้อย่างไม่มีที่ติ เมื่อขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ พระราชอำนาจของพระองค์ถูกทดสอบอยู่หลายหน ด้วยกระแสต่อต้านจากบรรดาผู้ไม่เห็นด้วย ทั้งพระญาติ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ และที่สำคัญคือศาสนจักร ที่มองว่าพระองค์คือพวกนอกรีต ต้องกำจัดเสียโดยเร็ว ในยุคกระโน้นอำนาจของศาสนจักรมีล้นฟ้า อำนาจทั้งปวงตกอยู่แก่สำนักวาติกัน ในภาพยนตร์จะเห็นได้ชัดเจนถึงความไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงของบรรดาพระราชาคณะของอังกฤษ รวมไปถึงสำนักวาติกันที่ถือว่าการดึงดันขึ้นครองราชย์นั้น (โดยทางวาติกันไม่เห็นชอบ) เป็นการหักหน้าศาสนจักรอย่างรุนแรง จนถึงกับมีแผนลอบปลงพระชนม์ !
ส่วนการก้าวขึ้นสู่อำนาจของ ไมเคิล คอร์ลิโอเน่ ก็ไม่ต่างอะไรกันนัก ในบรรดาพี่น้อง (ไม่นับคอนนี่ ลูกสาวคนเดียวของ ดอน วีโต้) ไมเคิล เป็นคนที่อยู่ห่างไกลจากกิจการของครอบครัวที่สุด แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นเขาที่ก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้แทนคอร์ลิโอเน่ผู้พ่อ
ตระกูลคอร์ลิโอเน่ จัดเป็นก๊กที่มีอำนาจมากในอันดับต้นๆ จากการปูทางของ ดอน วีโต้ เขาทำธุรกิจทั้งที่ผิดกฎหมายและถูกกฎหมายไปพร้อมๆ กัน อำนาจบารมีของ ดอน วีโต้ ส่วนหนึ่งมาจากการที่เขาสนิทชิดเชื้อกับนักการเมือง ผู้พิพากษา วุฒิสมาชิก ซึ่งแต่ละรายก็ได้รับผลประโยชน์จากดอนทั้งนั้น โดยตอบแทนด้วยการเปิดทางให้ดำเนินธุรกิจใต้ดินอย่างสะดวกราบรื่น แต่สิ่งหนึ่งที่ดอนยึดมั่นถือมั่นมาตลอดนั่นคือเขาจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด จนเมื่อพวกแก๊งค์ทัตตาเกลียถูกปฏิเสธจากดอนเมื่อมาขอให้ดอนร่วมหุ้นด้วย แก๊งค์ทัตตาเกลียจึงจัดการลอบสังหารดอน เพื่อขจัดขวากหนามและพยายามก้าวขึ้นมาเป็นกลุ่มอำนาจใหม่ สร้างความเดือดดาลให้กับ ซันนี่ ลูกชายคนโต ซันนี่ ประกาศสงครามทันทีก่อนจะถูกเก็บในเวลาต่อมา ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์ อีกทั้งสุขภาพของดอน วีโต้ที่ไม่แข็งแรงนัก อำนาจบารมีของดอนเริ่มเสื่อมถอยลง แต่ความจริงแล้วเป็นเช่นไรกันแน่ ไมเคิลซึ่งมองดูความเป็นไปอยู่ห่างๆ กระโดดเข้ามามีบทบาทสำคัญเมื่อเขาอาสาเป็นผู้ปลิดชีวิต โซลอสโซ นั่นคือการตัดสินใจเข้ามาสู่โลกด้านมืดอย่างเต็มตัวและเต็มใจ
เมื่อดอนรู้ความจริงภายหลัง เขาผิดหวังและเสียใจที่ลูกชายที่เขารักที่สุดต้องเข้ามาสู่วังวนที่แสนอันตรายนี้ (ดอนพยายามปกป้องไม่ให้ไมเคิลเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการของครอบครัว) ในขณะเดียวกันเขาก็ดีใจและภูมิใจในตัวไมเคิล เพราะลูกคนนี้มีแววที่สุดที่จะสืบทอดตำแหน่งก็อดฟาเธอร์ต่อไป ทั้ง ควีนอลิซาเบธ และ ไมเคิล คอร์ลิโอเน่ มีเหตุผลในการขึ้นสู่อำนาจ แม้ในเบื้องลึกแล้วมันไม่ใช่คำตอบที่ทั้งสองต้องการ แต่เมื่อต้องเป็น ทั้งคู่ก็ทำหน้าที่ได้อย่างไม่มีที่ติด้วยวิถีทางที่เหี้ยมเกรียมพอกัน
ไม้ใหญ่จะยืนได้รากต้องแข็งแกร่ง
นับเป็นโชคของ ควีนอลิซาเบธ ที่พระองค์มีบริวารผู้ภักดีอย่าง เซอร์วิลเลี่ยมส์ เซชิล (Sir William Cecil) และ เซอร์ฟรานซิส วอลซิ่งแฮม (Sir Francis Walsingham) ในหนังไม่ได้บอกว่าทั้งสองภักดีด้วยใจจริงหรือเพื่อจุดประสงค์อื่นใดกันแน่ แต่หากจะให้วิเคราะห์ขอฟันธงไปว่า เพราะในรัชสมัยของพระนางแมรี่ ทั้งสองอาจจะไม่ได้รับความนิยมชมชอบนัก โดยเฉพาะเซอร์ฟรานซิส ที่ถูกเขม่นจากขุนนางชั้นผู้ใหญ่หลายคน จนในยุคของพระองค์ที่เซอร์ฟรานซิสได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยอย่างสูง และเป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ในการว่าราชการ
(ซ้าย) ภาพเขียนของ เซอร์ฟรานซิส วอลซิ่งแฮม ถัดมาเป็นภาพจากในหนัง เมื่อเซอร์ฟรานซิส กลายเป็นที่ปรึกษาคู่พระทัยตลอดรัชสมัยของพระองค์
เซอร์ วิลเลี่ยมส์ และ เซอร์ฟรานซิส ต่างมีบทบาทในการผลักดันให้เจ้าหญิงอลิซาเบธขึ้นสูงตำแหน่งราชินี หากจะเปรียบเทียบกันแล้ว ท่านแรกคือผู้ปูทางให้เจ้าหญิงขึ้นนั่งบัลลังก์ ส่วนท่านที่สองคือผู้คอยเก็บกวาดเสี้ยนหนามให้พระนางประทับบนบัลลังก์อย่างมั่นคง
ในหนังเราจะเห็นบทบาทความภักดีของทั้งสองที่ต่างขั้วกัน เซอร์วิลเลี่ยมส์เชื่อว่าบัลลังก์ของพระองค์จะมั่นคงก็ต้องสานสัมพันธ์กับมหาอำนาจอย่างสเปนหรือฝรั่งเศส ในขณะที่เซอร์ฟรานซิสกลับรู้พระทัยราชินียิ่งกว่า เขาและพระราชินีเชื่อมั่นว่าอังกฤษสามารถเป็นมหาอำนาจเทียบเคียงสเปนหรือฝรั่งเศสได้ หรืออาจจะยิ่งใหญ่กว่าด้วยซ้ำ โดยไม่จำเป็นต้องสานสัมพันธ์ด้วยการอภิเษกสมรส เพราะนอกจากจะไม่เกิดผลอันใดแล้ว ยังจะนำมาซึ่งการอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์ในอนาคตอีกด้วย แต่สิ่งแรกที่ต้องทำคือการสร้างรากฐานที่มั่นคงให้องค์ราชินีเสียก่อน เริ่มจากหาทางเพิ่มจำนวนเงินในท้องพระคลังให้เต็มปรี่และถอนเสี้ยนหนามที่คอยตำพระบาทอยู่ให้สิ้นซาก
ควีนพระองค์ใหม่แสดงวิสัยทัศน์ในการประชุมสภาเพื่อผ่านกฎหมายรวมโบสถ์
งานแรกที่ถือว่าพระราชินีพระองค์ใหม่สอบผ่าน นั่นคือการผ่านกฎหมายว่าด้วยการรวมโบสถ์ ซึ่งถือเป็นการลดทอนอำนาจของฝ่ายคาธอลิกและยังเป็นการประกาศตัดสัมพันธ์กับทางวาติกัน กฎหมายที่พระองค์เสนอนั้นผ่านสภาด้วยคะแนนเสียงเฉียดฉิว ด้วยเพราะเล่ห์กลของเซอร์ฟรานซิส เพทุบายในครั้งนี้เป็นเสมือนการประกาศว่าพระองค์คือของจริงที่ไม่ยอมให้ใครมากล้าลองดีเป็นอันขาด
ส่วน ไมเคิล ดอนคนใหม่ของตระกูลคอร์ลิโอเน่ก็นับของจริงอีกคนหนึ่ง แม้ในช่วงแรกเขาจะหลบมุมอยู่เงียบๆ ไม่ออกความเห็นหรือขอมีส่วนร่วมใดๆ แต่เมื่อถึงคราวจำเป็น เขาก็กล้าที่จะอาสาเป็นคนจัดการกับโซลอสโซด้วยตนเองแต่เพียงลำพัง
เมื่อเขาก้าวขึ้นมาเป็นดอนคนใหม่ บรรดาคนสนิทรุ่นเก่าอาจจะยังไม่เชื่อฝีมือของเขานัก ยังดีที่มีดอนคนเก่าคอยหนุนหลังและให้คำปรึกษาอยู่เงียบๆ เมื่อตอนที่ดอน วีโต้ยอมสงบศึกและประกาศยุติสงครามระหว่างแก๊งค์ ก็เกิดคำถามของคนในแก๊งค์ว่าตระกูลคอร์ลิโอเน่ถึงคราวหมดอำนาจเสียแล้วหรือ ยิ่งนายน้อยคนใหม่ประกาศว่าจะย้ายถิ่นฐานไปอยู่เนวาด้า และห้ามมิให้ใครลุกขึ้นมาต่อกรกับกลุ่มอำนาจใหม่ของ ดอน บาร์ซินี่ ยิ่งก่อให้เกิดความไม่แน่ใจในตัวไมเคิลมากขึ้นกว่าเดิม
แต่ผลกลับกลายเป็นว่าแผนการของไมเคิลนั้นลุ่มลึกและเลือดเย็นกว่าดอนผู้พ่อเสียอีก เขาซุ่มตัวอยู่เงียบๆ เป็นปี ค่อยๆ สืบเสาะหาข่าวและวางแผนอย่างลับๆ ชนิดที่รู้กันวงในไม่กี่คน จนเมื่อสถานการณ์สุกงอมเต็มที่ เขาก็ดำเนินการเก็บศัตรูพร้อมๆ กันในคราวเดียว ที่ปรึกษาที่เขาไว้ใจที่สุดไม่ใช่อื่นไกล ก็คือพ่อของเขานั่นเอง นอกจากนี้ยังมี ทอม ฮาเก้น ทนายประจำตระกูล เคลเมนซ่า มือขวาของดอน วีโต้ รวมไปถึง อัล เนรี มือขวาของไมเคิล
แผนการขจัดเสี้ยนหนามของควีนอลิซาเบธและไมเคิลต่างก็ประสบผลสำเร็จ ซึ่งผลของมันได้ก่อให้เกิดความมั่นคงจากรากฐานไปจนถึงยอด อีกทั้งยังเป็นเสมือนการขู่มิให้กลุ่มอำนาจอื่นกล้าก้าวขึ้นมาเทียบชั้น และสิ่งหนึ่งที่ทั้งสองใช้เป็นคติประจำใจนั่นก็คือ แผนการใหญ่ทั้งหลาย รู้ให้น้อยคนไว้จะยิ่งดี