เรื่องของ ดร. โนงูจิ ฉบับการ์ตูน จัดจำหน่ายในไทยโดยสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ
วันนี้ไปค้นกองหนังสือเก่า พบการ์ตูนอยู่เล่มหนึ่งสภาพโทรมสุดๆ ชื่อ “ดร.โนงูจิ ด้วยใจนักสู้” เขียนโดย อ. โตชิยูกิ มุสึ ผลิตโดยสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ จำได้ว่าเคยอ่านเมื่อนานมาแล้ว เป็นการ์ตูนเรื่องเยี่ยมที่ยังอยู่ในดวงใจ อยากจะให้ใครๆ ได้ลองอ่านบ้างแล้วจะรู้เลยว่า ความสุขในชีวิตนี้มันอยู่ไม่ไกลเกินมือเอื้อมเลย
ดร.โนงูจิ ด้วยใจนักสู้ เป็นการ์ตูนที่สร้างจากเรื่องจริง เมื่อตอนที่อ่านครั้งแรกนั้นจำได้ว่าเช่ามาจากร้านแค่ ๓ เล่ม อ่านจบอย่างรวดเร็วแล้วรีบไปยืมมาอีกจนครบ ๑๗ เล่ม อ่านรวดเดียวจบเช่นเคย เป็นการ์ตูนอีกเรื่องหนึ่งที่ซึ้งกินใจโฮกๆ ตอนนั้นยังไม่แน่ใจว่าเขียนจากเรื่องจริงหรือไม่ จนเมื่อทราบในเวลาต่อมาว่าเป็นเรื่องจริงก็ยิ่งซาบซึ้งมากขึ้นไปอีกเป็นเท่าทวี
การ์ตูนเรื่องนี้เล่าเรื่องราวชีวิตของบุคคลสำคัญคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่น สำคัญถึงขนาดที่มีรูปของเขาปรากฎในธนบัตรฉบับละ ๑,๐๐๐ เยน เพื่อเป็นที่ระลึกถึงคุณงามความดี ดร.โนงูจิ เดิมชื่อ โนงูจิ เซซากุ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น โนงูจิ ฮิเดโยะ (แปลว่าดวงอาทิตย์หรือในความหมายที่ว่าผู้ส่องแสง ผู้มีความเจิดจ้า) เขาเกิดในครอบครัวชาวนาที่ยากจนในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งที่จังหวัดฟุคุชิมะ กำพร้าบิดาแต่เล็ก มีคุณแม่ชิกะเป็นผู้เลี้ยงดูมาตลอด เมื่อยังเด็กได้ประสบอุบัติเหตุตกลงไปในเตาหลุม (เตาไฟสำหรับหุงหาอาหารและสร้างความอบอุ่น มักตั้งอยู่บริเวณกลางบ้าน พบในบ้านแบบโบราณของชาวญี่ปุ่น) เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มือซ้ายของเขาโดนไฟลวกจนพุพองและไม่สามารถใช้งานได้เหมือนคนปกติ ซึ่งทำให้คุณแม่ชิกะโทษตัวเองอยู่ตลอดเวลาที่เป็นต้นเหตุทำให้ลูกชายต้องพิการแต่เล็ก คุณแม่จึงตั้งปณิธานแน่วแน่ว่าจะเลี้ยงดูลูกคนนี้อย่างดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้
ธนบัตรฉบับละ ๑,๐๐๐ เยน ที่มีภาพของ ดร. โนงูจิ
ครอบครัวโนงูจิอาจเรียกได้ว่าเป็นครอบครัวที่ยากจนที่สุดในหมู่บ้าน โชคดีที่สังคมในยุคเก่ายังคงมีการเจือจานแบ่งปันกันตามประสังคมชนบท ตัวเขาเองแม้จะพิการแต่น้อยแต่ก็เป็นเด็กเฉลียวฉลาด มีแววเก่งตั้งแต่เด็ก เขามักจะช่วยเหลืองานคุณแม่ชิกะอยู่เสมอ แต่คุณแม่มักจะปรามด้วยเหตุผลที่ว่า “ลูกทำงานหนักแบบชาวนาไม่ไหวดอก ดังนั้นลูกต้องตั้งใจเรียนให้มากๆ” คุณแม่ชิกะทำงานหนักอย่างไม่ยอมพักเพื่อชดเชยความรู้สึกผิดที่ทำให้ลูกต้องเสียมือซ้ายไป แต่กระนั้นก็ห้ามมิให้เขาแสดงความกตัญญูด้วยการแบ่งเบาภาระไม่ได้อยู่ดี
โนงูจิเข้าเรียนที่โรงเรียนประจำหมู่บ้าน เมื่อเริ่มโตขึ้นความพิการก็เริ่มส่งผล เขามักจะถูกเพื่อนๆ ล้อเลียนอยู่เสมอและมันก็ยังเป็นอุปสรรคต่อการเรียนด้วย ความลำบากทางกายนั้นพอทนได้ แต่ความลำบากใจนั้นยากเกินจะทน เขาถูกเพื่อนๆ กลั่นแกล้งจนทนไม่ไหว จึงหนีโรงเรียนแต่แสร้งว่าไปโรงเรียนทุกๆ เช้า จนเมื่อคุณแม่ชิกะรู้ความจริง แทนที่จะโกรธ กลับรู้สึกเห็นใจลูกชายและยังคงโทษตัวเองว่าเป็นคนผิดเอง เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เขารู้สึกผิดและสัญญาว่าจะไม่หนีเรียนอีกไม่ว่าจะถูกกลั่นแกล้งสักเพียงใดก็ตาม จากวันนั้นเป็นต้นมาผลการเรียนของเขาก็ดีขึ้นและไม่เคยสอบได้ต่ำกว่าที่ ๑ เลยสักครั้ง
แม้จะยากจนและลำบากมากเพียงใด แต่เขาก็ยังโชคดีที่ได้พบแต่คนดีๆ เมื่อผ่านชั้นประถมปลายก็ได้พบกับคุณครูโคบายาชิ ซึ่งต่อมากลายเป็นผู้มีพระคุณมากที่สุดคนหนึ่ง คุณครูโคบายาชิทึ่งในความสามารถด้านการเรียนของเขาและรู้สึกเห็นใจในชะตาชีวิตของครอบครัวโนงูจิ จึงอาสาเป็นผู้อุปการะส่งเสียให้เรียนจนถึงชั้นมัธยม ต่อมาคุณครูโคบายาชิได้ร่วมมือกับเพื่อนๆ เรี่ยไรเงินเพื่อใช้เป็นค่ารักษาในการผ่าตัดมือซ้ายของเขาจนหายดีเป็นปกติ นับเป็นจุดเริ่มต้นในการอุทิศตนเพื่อเป็นแพทย์ผู้คอยช่วยเหลือผู้ยากไร้ตลอดจนวาระสุดท้ายในชีวิต
หลังจากจบมัธยมปลายด้วยผลการเรียนดีเยี่ยม โนงูจิขอร้อง ดร.คานาเอะ วาตานาเบ แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดมือของ้ขาให้รับเข้าทำงานที่โรงพยาบาลไคโยะในตำแหน่งนักการภารโรง แลกกับการได้ศึกษาวิชาแพทย์ไปด้วย เพราะคงเป็นไปไม่ได้ที่เด็กยากจนอย่างเขาจะได้รับการศึกษาในระดับสูงตามโรงเรียนทั่วไป เขาได้ทุ่มเทชีวิตให้การศึกษาวิชาแพทย์อย่างหนัก แต่ก็ยังคงทำงานในฐานะภารโรงอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง และยังศึกษาภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมันด้วยตนเองอีกด้วย!
ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นทำสงครามกับจีน ดร.วาตานาเบ จึงต้องทิ้งโรงพยาบาลไคโยะเพื่อไปประจำการที่ประเทศจีน เขาได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่ดูแลโรงพยาบาลแทนทั้งที่อายุยังไม่ครบ ๒๐ ปีด้วยซ้ำ ระหว่างนี้เองที่เขาได้มีโอกาสพบปะกับนายแพทย์เก่งๆ ที่ล้วนแต่ชื่นชมในความกระตือรือร้นและได้ถ่ายทอดความรู้ทางการแพทย์ให้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นความโชคดีอย่างที่สุด
โนงูจิได้รับโอกาสดีอีกครั้งเมื่อเดินทางมายังโตเกียวเพื่อเตรียมสอบคัดเลือกเป็นแพทย์ ระหว่างที่รอการสอบเขาได้ทำงานที่โรงเรียนทันตแพทย์ทาคายามะ โดยทำหน้าที่เป็นภารโรงและร่ำเรียนเพิ่มเติม ในช่วงนั้นเขาต้องอาศัยอยู่ในโรงเรียนเนื่องจากไม่มีเงินพอที่จะหาที่อยู่ข้างนอกได้
ความยากจนยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในชีวิต เขายังคงสวมเสื้อผ้าเก่าซอมซ่อเพราะมีอยู่ชุดเดียว แม้กระทั่งวันสอบก็ไม่มีแม้กระทั่งชุดหูฟัง (Stethoscope) ซึ่งถือเป็นเครื่องมือจำเป็นสำหรับแพทย์ จนต้องยืมเอาจากผู้คุมสอบ แต่ผลการสอบนั้น จากจำนวนผู้เข้าสอบ ๘๐ คน มีผู้ผ่านเพียง ๔ คน และเขาก็เป็นหนึ่งในนั้น หมายความว่าเขาเป็นแพทย์อย่างเต็มตัวเมื่ออายุเพียง ๒๐ เศษเท่านั้น
เมื่อกลับมายังโรงเรียนทันตแพทย์ทาคายามะ เขาได้รับการเลื่อนชั้นเป็นอาจารย์ผู้สอนท่ามกลางความงงงวยของบรรดานักเรียน ที่จู่ๆ ภารโรงก็กลายมาเป็นอาจารย์ แต่เขาก็แสดงความสามารถจนเป็นที่ยอมรับของนักเรียนทุกคน
คุณแม่ชิกะ แม่ผู้ทุ่มเททุกอย่างให้ลูก จนกระทั่งวาระสุดท้ายของตัวเอง
โนงูจิยังคงศึกษาวิชาแพทย์เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลาควบคู่ไปกับความก้าวหน้าในอาชีพ ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังได้รับการดูถูกเหยียดหยามเหมือนเมื่อครั้งวัยเยาว์อยู่เสมอ แต่เขาก็หนักแน่นพอที่จะพิสูจน์คุณค่าของตัวเองด้วยการกระทำจนเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม เขาเริ่มสนใจสาขาวิชาระบาดวิทยาและทำการวิจัยอย่างจริงจัง และได้รับโอกาสให้เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อทำวิจัย
แม้ว่าที่ญี่ปุ่นเขาจะได้รับการยอมรับในฐานะแพทย์ผู้มีเกียรติ แต่ที่อเมริกาเขากลับได้รับแต่การดูแคลน เนื่องด้วยความรังเกียจของชาวอเมริกันที่มีต่อชาวเอเชียว่าเป็นชนชาติที่ต่ำต้อย ไร้วัฒนธรรม เขาก็ยังคงใช้วิธีเดิม คือนิ่งเฉยและตอบโต้ด้วยผลงานจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
ในที่สุดเขาได้รับเลือกจาก ดร.เฟลกซ์เนอร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการแพทย์คนแรกของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) ให้เป็นผู้ช่วย โดยขณะนั้นเขาเพิ่งจะอายุเพียง ๒๘ ปี ท่านได้กลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในระดับโลกไปเสียแล้ว
จากเด็กพิการยากจนในชนบทที่บ้านเกิด บัดนี้ได้กลายเป็นนายแพทย์ผู้มีผลงานวิจัยในระดับโลก แต่เขาก็ไม่เคยลืมเลือนอดีต ในปี ๒๔๕๘ เป็นเวลากว่า ๑๕ ปีที่จากประเทศญี่ปุ่น เขาได้เดินทางกลับแผ่นดินเกิดอีกครั้งในฐานะผู้มีชื่อเสียงระดับโลก ที่แรกที่เดินทางไปคือที่บ้านโกโรโกโสหลังเดิม ที่มีคุณแม่ชิกะเฝ้ารอในชุดเก่าซอมซ่อเหมือนเดิม แม้ว่าในระหว่างที่เขาประสบความสำเร็จยังต่างประเทศ แต่คุณแม่ชิกะก็ยังคงทำงานหนักเหมือนเช่นเดิม โดยให้เหตุผลว่า “ตอนนี้ เซซากุ กำลังทุ่มเททำงานอย่างลำบาก ตัวฉันเองก็ต้องทุ่มเททำงานเท่าที่ฉันจะทำได้เหมือนกัน”
คุณแม่ชิกะเสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ขณะที่ ดร.โนงูจิ กำลังทำงานวิจัยอยู่ที่ปานามา ก่อนจะสิ้นลมท่านยังเพ้อถึง ดร.โนงูจิ ให้พยายามต่อสู้ต่อไป ห้ามสิ้นหวังอย่างเด็ดขาด นับเป็นการปลดปล่อยตัวเองจากความผิดที่ท่านโทษตัวเองมาตลอดชีวิตที่ทำให้ลูกชายต้องผจญกับความยากลำบาก
ที่ทวีปแอฟริกาเกิดการระบาดของโรคไข้เหลือง ดร.โนงูจิ ได้เดินทางไปเพื่อทำการวิจัยและผลิตวัคซีน ท่ามกลางเสียงทัดทานจากหลายฝ่าย เพราะนอกจากจะยังไม่มีวัคซีนป้องกันแล้วยังมีโอกาสติดเชื้อสูง ซึ่งนั่นหมายถึงชีวิต แต่เขาก็ยืนยันที่จะเดินทางไป จนที่สุดแล้วเขาก็เสียชีวิตที่แอฟริกานั่นเอง ด้วยวัย ๕๒ ปี
รูปปั้นของ ดร. โนงูจิ ตั้งเป็นอนุสรณ์อยู่ที่ประเทศกาน่า
ภาพถัดมาเป็นบรรยากาศในสถาบันวิจัยในกาน่าที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ท่าน
ทั้งสองภาพมาจาก http://semaru.web.infoseek.co.jp/gana.htm
ปัจจุบัน ชื่อของ ดร. โนงูจิ กลายเป็นชื่อที่คนญี่ปุ่นรู้จักกันดี เป็นชื่อที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับใครก็ตามที่คิดว่าตนเองสิ้นหวัง ไม่เพียงแต่ชาวญี่ปุ่นเท่านั้น บนแผ่นดินแอฟริกา ชื่อของท่านก็เป็นที่รู้จักและให้ความเคารพมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะท่านคือผู้ที่สามารถพิชิตโรคร้าย อาทิ กาฬโรค ไข้เหลือง ซิฟิลิส ที่ระบาดอย่างรุนแรงไปทั่วทวีป
หมายเหตุ
ไข้เหลือง เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ในทวีปอัฟริกาและอเมริกามาตั้งแต่ ๔๐๐ ปีก่อน อาการของโรคมีได้ตั้งแต่อาการเล็กน้อยจนถึงรุนแรงและเสียชีวิต คำว่า “เหลือง” มาจากอาการตัวเหลืองหรือดีซ่าน (Jaundice) ที่มักพบในผู้ป่วย ถึงแม้จะมีวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิผลดีใช้มานาน ๖๐ ปี แต่จำนวนของผู้ติดเชื้อในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาก็ยังเพิ่มขึ้น ทำให้โรคไข้เหลืองกลับมาเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในปัจจุบัน ติดตามรายละเอียดได้จาก สำนักโรคติดต่อทั่วไป กระทรวงสาธารณสุข