เป็นโชคดีที่จู่ๆ มีคุณหมอใจดีเชื้อเชิญให้ไปเป็นเพื่อนดูการซ้อมหุ่นกระบอกของมูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต นึกดีใจที่จะได้ชมผลงานของศิลปินระดับชาติที่ปกติก็หาโอกาสยากมากอยู่แล้วที่จะได้ชม เคยได้ชมผลงานของอาจารย์จักรพันธุ์แต่ก็เพียงตามหนังสือภาพต่างๆ เท่านั้น ไม่เคยได้เห็นหน้าค่าตาตัวจริง อีกทั้งผลงานหุ่นกระบอกของอาจารย์ก็เป็นที่เลื่องลือ จึงยินดีรับคำเชิญนั้นด้วยความเต็มใจยิ่ง
ทีแรกก็นึกประหม่าเพราะอันตัวเราก็ไม่มีกิริยามารยาทเป็นผู้ดีเหมือนใครเขา รู้ข่าวว่าการซ้อมครั้งนี้จัดขึ้นที่บ้านของอาจารย์ซึ่งดัดแปลงเป็นโรงซ้อมขนาดย่อมๆ นึกไว้ว่าจะต้องเป็นพิธีรีตองตามประสาคนชั้นสูง เพราะคุณหมอผู้มาเชิญแกมบังคับเล่าว่าอาจารย์เป็นคนค่อนข้างเนี้ยบ ไอ้เราก็นึกในใจว่า ตายละวา กูมิต้องหาสูทใส่ไปงานรึ เอาเข้าจริงก็ไม่มีอะไรมาก แถมยังเป็นเองเกินคาด
บ้านของอาจารย์ดูง่ายๆ ต่างจากภาพลักษณ์ที่สังคมภายนอกคิดเอาไว้ว่าอาจารย์ต้องเนี้ยบตลอดเวลา ต้องดูภูมิฐาน ต้องดูมีขนบธรรมเนียม แท้จริงแล้วอาจารย์ก็เหมือนเราๆ ท่านๆ อยู่กินแบบง่ายๆ ภายในงานวันนั้นมีคนเข้ามาชมน่าจะราวสองร้อยได้ รวมทีมงานก็กว่าสามร้อยชีวิต ลูกศิษย์ลูกหา คนใกล้ชิดและผู้มีทรัพย์เหลือเฟือที่ชื่นชมอาจารย์ต่างยกสำรับอาหารคาวหวานมาเลี้ยงรับรอง วางกันง่ายๆ กินกันง่ายๆ แบบนี้ก็สบายผมล่ะ
ใกล้บ่ายทีมงานก็กวาดต้อนแขกผู้มีเกียรติบ้างไม่มีเกียรติบ้าง (อย่างเช่นตัวผม) เข้าไปนั่งในโรงซ้อม ซึ่งก็คือใต้ถุนบ้านของอาจารย์นั่นแหละ ทำฉากม่าน ติดไฟเสียหน่อยก็ได้เป็นโรงละครแบบง่ายๆ ด้านหลังคนดูยกพื้นสูงเป็นส่วนของวงดนตรีและทีมพากย์ ไม่นานนักการซ้อมก็เริ่มขึ้น
งานหุ่นกระบอกของอาจารย์ครั้งนี้คือชุด ตะเลงพ่าย ทราบว่าเริ่มงานชิ้นนี้หลังจากประสบความสำเร็จในการจัดการแสดงหุ่นกระบอกเรื่อง สามก๊ก เมื่อปี ๒๕๓๓ จากนั้นก็เตรียมการทำ ตะเลงพ่าย นับแต่ปีนั้นเป็นต้นมา
ตะเลงพ่ายเล่าเรื่องราวการรบทัพจับศึกระหว่างสมเด็จพระนเรศวรกับพระมหาอุปราช เป็นการทำยุทธหัตถีจนเป็นที่มาของการสร้างอนุสรณ์สถานบริเวณตำบลหนองสาหร่าย การรบครั้งนี้มีทั้งพม่าและมอญมาร่วมรบ ในช่วงนั้นมอญเป็นของพม่า คำว่าตะเลงหมายถึงพวกมอญ แต่ในที่นี้อนุมานได้ว่าตะเลงมิได้ตีความเฉพาะแค่มอญแต่รวมถึงพม่าไปด้วย ลิลิตตะเลงพ่าย เป็นผลงานการประพันธ์โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ คือประพันธ์เป็นลิลิต คนส่วนใหญ่มักเรียกติดปากกันซึ่งอาจารย์ก็เคยย้ำว่าต้องพูดให้ถูกว่า ละครหุ่นเรื่องตะเลงพ่าย ไม่ใช่ลิลิตตะเลงพ่าย สำหรับการแสดงของอาจารย์จักรพันธุ์นั้นทำการแต่งคำร้องขึ้นใหม่หมด แต่ยังใช้เนื้อเรื่องตามแบบต้นฉบับ
เมื่อนึกถึงตะเลงพ่าย ผมจะนึกถึงโคลงบทหนึ่งจากลิลิตตะเลงพ่ายเสมอ เพราะท่องมาตั้งแต่สมัยเรียน เป็นตอนที่พระมหาอุปราชยกทัพมาทางเมืองกาญจนบุรี แล้วรำพึงถึงนางอันเป็นที่รักที่อยู่ที่กรุงหงสา หวานซะไม่มี (ที่จริงถ้าคิดถึงมากก็ไม่ต้องยกทัพมารบก็ได้นะครับนี่)
สายหยุดหยุดกลิ่นฟุ้ง ยามสาย
สายบ่หยุดเสน่ห์หาย ห่างเศร้า
กี่คืนกี่วันวาย วางเทวษ ราแม่
ถวิลทุกขวบค่ำเช้า หยุดได้ฉันใด
การซ้อมในวันนั้นใช้ทีมงานทั้งคนร้องคนเชิดและเจ้าหน้าที่ส่วนอื่นๆ รวมกันผมว่าเฉียดกว่าร้อยคน แม้จะเป็นเพียงโรงซ้อมแบบบ้านๆ แต่การแสดงอลังการงานสร้างมาก หุ่นแต่ละตัวงดงาม การเชิดก็อ่อนช้อยราวกับหุ่นมีชีวิต แต่การแสดงที่ค่อนข้างยาว คือตั้งแต่ช่วงบ่ายตรงไปจนถึงราวห้าโมงเย็นกว่าๆ ทำให้หลายคนมีอาการตาปรือ อีกทั้งเสียงดนตรีบรรเลงที่ฟังเพลิดเพลินด้วยกระมัง จึงไม่แปลกที่ผมแอบเห็นหลายคนเคลิ้มหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย
การมาชมในครั้งนี้นอกจากได้ชมการแสดงที่สุดยอดแล้ว ยังสร้างความเชื่อมั่นในความคิดส่วนตัวของผมว่า คนไทยไม่ค่อยมีมารยาทและไม่มีวัฒนธรรมในการชมนิทรรศการหรือมหรสพใดๆ ก่อนการแสดงคุณพิธีกรขอร้องแกมดุว่าให้ผู้ชมปิดโทรศัพท์ อนุญาตให้ถ่ายภาพได้แต่เฉพาะตรงที่นั่งและห้ามใช้แฟลชโดยเด็ดขาด ซึ่งการห้ามที่ว่านี้ไม่เป็นผล ยังคงมีเสียงโทรศัพท์และแสงแฟลชแว้บมาเป็นระยะ แสงแฟลชนี่พอเข้าใจว่ามันอาจจะเป็นเรื่องไม่ตั้งใจ เพราะกล้องของหลายท่านเป็นแบบออโต้และผู้ใช้หลายท่านก็สูงวัย แต่เรื่องเสียงโทรศัพท์นี่ขัดใจมากจริงๆ
พื้นที่สำหรับผู้ชมไม่ได้ทำเป็นสแตนด์ไล่ระดับแต่เป็นระนาบเดียวกันหมด คนที่อยู่ด้านหลังจึงมองการแสดงไม่เห็นชัดเจน หรือแถวกลางๆ ก็ตาม จึงมีการผุดลุกผุดนั่งกันเป็นระยะ นึกอยากจะลุกขึ้นชะโงกดูก็ลุกโดยไม่สนใจคนข้างหลัง เอียงซ้ายทีขวาที คุยกันระหว่างการแสดงก็มี และมีบางท่านพาเด็กมาชมด้วย เด็กๆ น่ะ จดจ่ออยู่กับอะไรได้ไม่นานหรอกครับ ยิ่งเป็นการแสดงแบบนี้พาลเอาเบื่อได้ง่ายๆ พอเด็กเขาเบื่อก็เริ่มจะโยเย ผุดลุกพลิกตัวหมุนไปหมุนมาอยู่ไม่สุข ก็ทำเอาเสียอารมณ์ไปพอสมควร กระทั่งผู้ใหญ่เองก็ตื่นเต้นได้เพียงช่วงแรกแล้วก็เริ่มเบื่อ ฉากหลังๆ ก็เริ่มทยอยออกกันไป บ้างก็นั่งหลับ นั่งคุยกัน ผมว่าหากจะมาเอาโก้แค่ว่าข้าได้มาดูศิลปินใหญ่ ถ้าสมใจแล้วก็ออกไปเถอะครับ มานั่งเกกะรบกวนการชมของคนที่เขาอยากดูจริงๆ ทำไมไม่รู้
แต่โดยรวมแล้วถือว่าคุ้มค่าสุดๆ กับการได้มาชมศิลปะการแสดงที่หาดูยาก บทร้องทำได้ไพเราะและสื่อความได้ดีเชียวครับ
แวะเยี่ยมชมมูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต ได้ที่ www.chakrabhand.org
นิตยสารพลอยแกมเพชร ฉบับเดือนกันยายน ๒๕๕๐
จัดทำสกู๊ปพิเศษเรื่องละครหุ่นของ อ.จักรพันธ์ โดยเฉพาะ ละเอียดยิบเชียว
ทั้งประวัติความเป็นมา ทีมงาน กระทั่งบทร้อง ไปตามหาอ่านเอาเองกันนะครับ
(ขอบคุณภาพจาก magazinedee.com)
ปล. ความจริงมีภาพมากกว่านี้แต่ขออนุญาตไม่ลง เพราะทีมงานของอาจารย์ค่อนข้างกังวลเรื่องภาพการซ้อมที่หลุดออกไป จึงขอความร่วมมือในการโพสต์ภาพลงบนโลกออนไลน์ จึงไม่อยากขัดนโยบาย แต่ก็ขอลงไว้เท่านี้เป็นน้ำจิ้ม