ในแวดวงธุรกิจ มีกูรูได้กล่าวไว้ว่า ผู้ที่ลงมือก่อนมักจะได้เปรียบ แน่นอนว่าหากเราทำก่อนขายก่อน ย่อมได้เปรียบในแง่การตลาดชัวร์ แต่การทำก่อนต้องมาจากพื้นฐานที่แน่นพอ ไม่งั้นจะกลายเป็น ทำก่อนเจ๊งก่อน แต่ก็อีกนั่นแหละ อะไรก็ไม่แน่ไม่นอน บางครั้งชีวิตมันก็แบบนี้
แต่โดยส่วนมากผู้ที่ “ทำก่อน” แล้วสำเร็จ มักจะมาจากพื้นฐานที่ดีหรือผ่านกระบวนการคิดมาแล้วทั้งสิ้น ใน สามก๊ก มีตัวอย่างให้เห็นอยู่หลายตอนที่พิสูจน์ว่าการชิงลงมือทำก่อนมีทั้งดีและไม่ดี
ในช่วงที่บ้านเมืองวุ่นวายภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าเลนเต้ เกิดการแย่งชิงความได้เปรียบกันระหว่างสองขั้วอำนาจคือฝ่าย ตังไทเฮา (พระราชมารดาพระเจ้าเลนเต้) หวังจะดัน องค์ชายหองจูเปียน ซึ่งเป็นหลานให้ขึ้นครองราชย์ และฝ่าย โฮฮองเฮา (พระมเหสี) ที่หวังจะดัน องค์ชายหองจูเหียบ ซึ่งเป็นพระราชบุตรขึ้นครองราชย์ ทั้งสองฝ่ายต่างมีแบ๊คอัพที่แข็งแกร่งสูสีกัน ตังไทเฮาอาศัยอำนาจเก่าจากฝ่ายในคือพวกขันที ส่วนโฮฮองเฮามีฝ่ายทหารหนุนหลังเนื่องจากแม่ทัพใหญ่ตือ โฮจิ๋น เป็นพี่ชายของพระนาง
โฮจิ๋นชิงสถาปนาฮ่องเต้เพียงกุมความได้เปรียบ (ภาพจากซีรี่ส์สามก๊ก)
สิบขันทีที่หนุนหลังตังไทเฮาเตรียมวางแผนรวบอำนาจ ส่วนฝ่ายโฮจิ๋นก็คิดจะทำอยู่เหมือนกัน อ้วนเสี้ยว เสนอโฮจิ๋นว่าควรรีบกำจัดเหล่าขันทีก่อนจะดีที่สุด แต่ โจโฉ กลับเสนอว่าตอนนี้บ้านเมืองปั่นป่วน บัลลังก์ไร้ฮ่องเต้ สมควรจะชิงสถาปนาฮ่องเต้เสียก่อนแล้วค่อยกำจัดขันทีก็ยังไม่สาย ซึ่งข้อเสนอของโจโฉได้เปรียบมากกว่า เพราะแผนการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจของอ้วนเสี้ยวนั้นแม้จะดูได้เปรียบเพราะโฮจิ๋นเป็น ผบ.สส. อยู่แล้ว แต่หากเกิดอะไรผิดพลาดขึ้นมาก็จะกลายเป็นกบฎ อีกทั้งจะเป็นการนองเลือดแน่นอน แต่แผนของโจโฉนั้นเป็นการรวบรัดตัดตอนชิงยึดอำนาจโดยกเบื้องสูงเป็นเกราะกำบัง ลดการประจันหน้าและชิงความได้เปรียบเหนือคู่แข่งแบบไม่ทันตั้งตัว Continue Reading