มีใครไม่รู้จัก โดราเอมอน บ้างขอรับ … ช่วยบอกหน่อย … ถ้านับดูแล้ว โดราเอมอนนี่ก็น่าอยู่ในวัยกลางคน แต่ถึงปัจจุบัน เจ้าแมวจอมยุ่งก็ยังเป็นที่นิยมของเด็กๆ จนกลายเป็นตัวการ์ตูนที่เป็นอมตะไปเสียแล้ว
ท่านคงเคยได้อ่านบทวิเคราะห์ถึงการ์ตูนอมตะเรื่องนี้มาหลายต่อหลายหน จากนักวิชาการและกูรูมากมาย มีอยู่ท่านหนึ่งที่ผมพอจะรู้จัก เพราะเป็นอาจารย์ของผมเองเมื่อครั้งร่ำเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ท่าน รศ.ดร. ทัศนา สลัดยะนันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันท่านเกษียณอายุราชการแล้ว ท่านเคยเขียนบทความวิเคราะห์เรื่องราวของโดราเอมอนตีพิมพ์ลงในวารสาร โลกหนังสือ ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ เป็นตอนที่เจ้าโดราเอมอนกำลังบูมสุดขีดในบ้านเรา ตอนนั้นจำได้ว่าโดราเอมอนมีอิทธิพลต่อคนไทยอย่างมาก ไม่เพียงเฉพาะเด็กๆ แต่ลามไปถึงคนไทยทุกคน ทุกวงการ แม้เวลาจะผ่านมา ๓๐ กว่าปี เจ้าแมวจอมยุ่งก็ยังยืนหยัดสู้กระแสวัฒนธรรมอันหลากหลายที่ถาโถมเข้ามา เช่นเดียวกับบทความของอาจารย์ทัศนาที่ผมเชื่อว่าก็ยังคงความน่าสนใจ จึงขอนำบางส่วนของบทความดังกล่าวมาเรียบเรียงใหม่และขอนำมาเสนอ ณ ที่นี้
————————————————————————————————————————————-
ทัศนา สลัดยะนันท์. (๒๕๒๖). “โดราเอมอน เหตุใดแมวญี่ปุ่นจึงครองใจเด็กไทย”. โลกหนังสือ. ๖ : ๓๙-๔๔.
… โดราเอมอน เริ่มเข้ามาสู่เมืองไทยครั้งแรกราวปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ในรูปแบบของหนังสือการ์ตูนและภาพยนตร์การ์ตูน ออกฉายเป็นตอนๆ ทางช่อง ๙ อ.ส.ม.ท. หรือวีดิโอเทปให้เช่าและจำหน่ายทั่วไป ตอนนั้นทำเอาทั้งประเทศคลั่งไคล้เจ้าแมวสีฟ้าตัวนี้กันใหญ่ ในรูปแบบหนังสือการ์ตูน ช่วงนั้นยังไม่มีการเคร่งครัดในเรื่องของลิขสิทธิ์มากนัก ช่วงนั้น (ปี ๒๕๒๕) มีอย่างน้อย ๗ สำนักพิมพ์ตีพิมพ์ออกมาจำหน่าย โดยใช้ชื่อต่างๆ กันไป ไม่ว่าจะเป็น โดราเอมอน โดเรมอน โดรามอน
สำนักพิมพ์มิตรไมตรี (น่าจะเป็นสำนักพิมพ์แรกที่ตีพิมพ์โดราเอมอนอย่างถูกต้อง / ผู้เขียน blog) ได้นำเรื่องราวที่มาที่ไปของโดราเอมอนมาตีพิมพ์ไว้ใน “โดเรมอน แมวจอมยุ่ง” เล่มที่ ๑๙ ว่าเจ้าของผลงานชิ้นนี้คือ นายฟูจิโมโตะ ฮิโรชิ และ อะบิโกะ โมโตโอะ ร่วมกันเขียนโดยใช้นามปากกาว่า ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ โดยได้ไอเดียมาจากตุ๊กตาล้มลุกและแมวมาผสมกัน แล้วตั้งชื่อว่า โดราเอมอน มาจากคำว่า โดรา แปลว่า ไม่มีเจ้าของ, ถูกทอดทิ้ง และคำว่า เอมอน ที่ใช้ยกย่องนักรบญี่ปุ่นโบราณ กลายเป็นโดราเอมอน ที่หมายถึง คนดีที่ไม่มีเจ้าของ หรือคนเก่งที่ถูกทอดทิ้ง
จากเนื้อเรื่องตอนนี้เล่าว่าผู้เขียนกำลังประสบความยุ่งยากในการสร้างสรรค์ตัวการ์ตูนตัวใหม่ ขณะที่กำลังกลุ้มใจอยู่นั้นเขาก็เจอแมวไม่มีเจ้าของแถวบ้านหลงเข้ามา เขาจึงเล่นกับมันแก้เซ็งและหาเห็บให้ด้วยความเมตตา หลังจากนั้นมันก็เดินไปสะดุดเข้ากับตุ๊กตาล้มลุกของลูกสาว นี่เองจึงเป็นการจุดประกายให้เขาเกิดไอเดียเอาแมวกับตุ๊กตาล้มลุกมาผสมกัน ผนวกกับจินตนาการที่อิงเทคโนโลยีจนได้เป็นหุ่นยนต์แมวตัวกลมๆ ที่มาจากโลกอนาคต มีกระเป๋าที่หน้าท้องที่เก็บของวิเศษนานาชนิด
อาจารย์ทัศนาให้ความเห็นว่า โดราเอมอน เป็นการ์ตูนประเภทเฟื่องฝัน (Fantasy) โดยท่านเล่าว่าโดราเอมอนนั้นเดินทางมาจากโลกอนาคตเพื่อมาคอยช่วยเหลือ โนบิตะ เด็กประถมที่ไม่เอาไหน โดยเจ้าโดราเอมอนหอบเอาของวิเศษต่างๆ มาใช้คอยช่วยเหลือโนบิตะ ของที่ว่านั้นบรรจุไว้ในกระเป๋าที่หน้าท้อง โดยผู้เขียนจินตนาการว่าเป็นกระเป๋ามิติที่สี่ สามารถใส่ของที่มีขนาดหรือน้ำหนักมากๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ แล้วของข้างในก็จะเป็นของวิเศษที่แตกต่างกันไปในแต่ละตอน บางชนิดก็ไม่สมเหตุสมผล อย่างเช่นสเปรย์ฉีดรูปภาพให้ออกมาจากกระดาษและเคลื่อนไหวได้ น้ำยาที่ทำให้สิ่งของพูดได้ แต่ของวิเศษที่ว่าบางชิ้นก็อิงวิทยาศาสตร์ เช่น เครื่องมองย้อนอดีต เครื่องสร้างพายุไต้ฝุ่น หรือคอปเตอร์ไม้ไผ่
โดราเอมอนเป็นการ์ตูนสั้นๆ ประมาณตอนละ ๗๐-๘๐ ภาพ มีแนวคิดที่ต่างกันไปในแต่ละตอน แต่โดยส่วนใหญ่จะสนับสนุนคุณธรรมต่างๆ ให้แก่เด็ก เช่น ความซื่อสัตย์ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเมตตา แสดงผลแห่งกรรม ชี้ให้ผู้อ่านเห็นว่าของแม้จะดีวิเศษ แต่ช้าใช้ไม่เป็น ใช้ไม่ถูกทาง ก็ก่อให้เกิดโทษได้ และที่เป็นจุดเด่นคือ ของวิเศษซึ่งผู้เขียนได้นำความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีมาผนวกกับจินตนาการจน กลายเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกับกระสบการณ์ของเด็ก เด็กจึงสามารถเข้าใจได้ง่าย ขณะเเดียวกับของวิเศษบางอย่างที่เกินความจริงก็กระตุ้นให้เด็กมีจินตนาการ คิดฝันอยากให้มีจริงๆ เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่จับใจเด็กๆ โดยที่ในแต่ละตอนจะแทรกคติธรรมเอาไว้ เด็กๆ จะไม่รู้สึกว่าเป็นการสอน
โครงเรื่องในแต่ละตอนจะผูกไว้อย่างง่ายๆ ดำเนินเรื่องรวดเร็ว โดยสร้างปมปัญหาในตอนต้นเรื่องและก็มักจะเกิดกับตัวละครเอกอย่าง โนบิตะ ก่อนจะมาขอร้องให้โดราเอมอนช่วยแก้ปัญหา แล้วโนบิตะก็จะนำของวิเศษไปใช้เกินความจำเป็น ใช้อย่างผิดวิธี จนเกิดเรื่องราวเดือดร้อนอย่างไม่ตั้งใจ เกิดเป็นความสนุกสนาน เมื่อจบตอนผู้อ่านก็จะได้รับความสนุกสนานแฝงด้วยคติสอนใจ
ตัวละครสำคัญของเรื่องได้แก่ โนบิตะ เด็กชายอายุราว ๑๐ ขวบ มีลักษณะที่ต่างไปจากตัวเอกโดยทั่วไปที่มักจะเป็นคนเก่ง แต่โนบิตะตรงข้ามกับภาพลักษณ์ของความเป็นฮีโร่ทุกประการ (Anti Hero) ไม่ว่าจะเป็นเรียนไม่เอาไหน หัวขี้เลื่อย ขี้เกียจ เอาแต่นอน ขี้แพ้ ขี้ขลาด อ่อนแอ เป่ายิ้งฉุบไม่ชนะใครเลย แต่โนบิตะก็มีจิตใจดี มีความเมตตากรุณา อย่างเช่นตอนที่ไจแอนท์และซูเนโอะกำลังแกล้งเต่าเล่นอย่างสนุกสนาน โนบิตะถึงกับยอมสละเงินค่าขนมของตัวเองทั้งเดือนเพื่อนแลกเต่าตัวนั้น หรือความซื่อสัตย์ที่เห็นได้จากตอนที่เขาได้ดินสอวิเศษที่ช่วยให้ทำข้อสอบ ได้ แต่เขาก็เอาชนะความรู้สึกฝ่ายต่ำของตัวเอง ไม่ยอมใช้ดินสอวิเศษแม้ตัวเองจะสอบได้ศูนย์ก็ตาม ลักษณะของความไม่ดี ความไม่เก่งต่างๆ ทำให้เด็กผู้อ่านรู้สึกว่ายังมีเด็กคนอื่นๆ ที่เหมือนกับเขา จึงเกิดความผูกพันและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับตัวละคร
โดราเอมอน เป็นหุ่นยนต์แมวที่เดินทางมาจากโลกอนาคต เป็นตัวชูโรงที่ทำให้เด็กๆ รวมถึงผู้ใหญ่หลงใหล ก็เพราะกระเป๋ามิติที่สี่ที่ใส่ของวิเศษต่างๆ มากมาย สามารถนำออกมาใช้แก้ไขปัญหาหรือเพื่ออำนวยความสะดวกต่างๆ นี่จึงเป็นข้อที่ถูกใจผู้อ่านเพราะธรรมดาคนเราย่อมมีความปรารถนาอยากได้นั่น อยากได้นี่ ทุกคนคงคิดอยากจะมีของวิเศษที่บันดาลทุกอย่างให้สมปรารถนา
ไจแอนท์ เด็กชายร่างใหญ่เป็นหัวโจกของกลุ่ม นิสัยเกะกะระรานคนอื่น ชอบแย่งของที่ตนพอใจจากเด็กอื่นๆ ชอบรังแกโนบิตะอยู่เนืองๆ แต่นักเลงโตอย่างไจแอนท์ก็ยังมีผู้ที่เหนือกว่า นั่นคือแม่ของเขาเอง ผู้เขียนเติมสีสันให้ตัวละครตัวนี้อย่างน่าสนใจโดยสกัดความร้ายกาจของ ไจแอนท์อย่างน่าขันและสะใจผู้อ่าน เพราะถึงแม้เด็กจะเก่งกับใครก็ตาม แต่พอเจอแม่เข้าก็หมดฤทธิ์ ไจแอนท์จึงเป็นตัวแทนของเด็กเกเรทั่วไป เรียกว่าแทบจะทุกห้องเรียนต้องมีเด็กก้าวร้าวแบบนี้เสมอ
ซูเนโอะ เป็นจอมกะล่อนลูกน้องตัวดีของไจแอนท์ ชอบวางเขื่องเพราะถือว่ามีพ่อรวย ชอบข่มเหงคนที่อ่อนแอกว่า แม้จะยืนอยู่ข้างไจแอนท์แต่เขาก็มีความรู้สึกอยากแก้แค้นเพราะเขาเองก็โดน เอาเปรียบอยู่เสมอ
ชิซูกะ เด็กหญิงที่โนบิตะหลงรัก เป็นลักษณะของเด็กหญิงทั่วไป รักสวยรักงาม รักความยุติธรรม มีน้ำใจ

เมื่อพิจารณาตัวละครจะเห็นได้ว่าทุกตัวมีลักษณะตามธรรมชาติที่เป็นสากลของเด็กๆ ทั่วไป คือชอบเล่น รักสนุก ไม่ชอบทำการบ้าน ขี้โกงนิดหน่อยถ้ามีโอกาส เจ็บแค้นเมื่อถูกรังแกแต่สู้ไม่ได้ อยากมีอำนาจวิเศษบันดาลสิ่งต่างๆ ตามใจนึก ผู้เขียนนั้นเข้าใจถึงจิตวิทยาของเด็กเป็นอย่างดีจนเด็กที่อ่านสามารถ จินตนาการว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่อง หรือแม้กระทั่งตัวละครหุ่นยนต์อย่างโดราเอมอน เด็กๆ ก็จะจินตนาการว่าตัวเองเป็นโดราเอมอนและรู้สึกอิ่มเอมใจในความสำเร็จซึ่ง เป็นความต้องการทั่วไปของมนุษย์
ในส่วนของภาษา อาจารย์ทัศนา ให้ความเห็นว่าเนื่องด้วยมีหลายสำนวนแปล แต่ส่วนใหญ่จะไม่แตกต่างกันมากนัก เป็นภาษาที่ง่าย อ่านแล้วเข้าใจได้ทันที ยกเว้นเพียงสรรพนามบางคำที่ไม่น่าจะเหมาะสมกับตัวละคร เช่น ข้า รวมถึงคำไม่สุภาพ อย่าง วะ โว้ย ที่มีให้เห็นในบางสำนักพิมพ์ ซึ่งไม่ได้ช่วยชูอรรถรสแต่อย่างใด ซ้ำยังเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่เยาวชนด้วย
อาจารย์ทัศนายังจำแนกอิทธิพลของโดราเอมอนที่มีต่อเด็กๆ ไว้ดังนี้
– ให้ความสนุกสนาน สร้างอารมณ์ขัน จากความฉลาดในการคิดสร้างสรรค์ของวิเศษซึ่งเป็นของแปลกใหม่สำหรับเด็ก การใส่อารมณ์ขันซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการ์ตูนทำให้เด็กได้รับสนุกเพลิดเพลิน มุขต่างๆ ที่ใส่เข้าไปก็เข้าใจง่ายแม้แต่เด็กสาม-สี่ขวบก็สามารถสนุกไปด้วยได้
– สนับสนุนจินตนาการ เด็กทุกคนล้วนมีจินตนาการซึ่งหากได้รับการส่งเสริมที่ดีก็จะเจริญงอกงามไปใน ทางที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและสังคม เครื่องมือต่างๆ ผู้เขียนอธิบายลักษณะ วิธีการใช้ ด้วยคำพูดและภาพอย่างชัดเจน สิ่งเหล่านี้ช่วยเสริมจินตนาการของเด็ก ทำให้พวกเขามีความสุขในโลกส่วนตัว
– สนองอารมณ์ปรารถนา นักจิตวิทยาระบุถึงความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ไว้หลายประการทั้งทาง วัตถุและทางจิตใจ ทางจิตใจได้แก่ความรัก ความห่ววใย ความสำเร็จ การเป็นที่ยอมรับของผู้อื่น ฯลฯ การ์ตูนเรื่องนี้ช่วยสนองความต้องการของเด็กๆ ในด้านจิตใจ โดยเฉพาะด้านความสำเร็จ เราคงรู้ดีว่าเมื่อเราประสบความสำเร็จไม่ว่าจะเป้นหน้าที่การงานหรือชีวิต ส่วนตัว เราจะมีความรู้สึกภูมิใจเพียงใด ในโดราเอมอน ความสำเร็จของโนบิตะ แม้จะสำเร็จได้ด้วยเครื่องมือวิเศษ แต่ก็ทำให้เด็กๆ รู้สึกเข้าไปมีส่วนร่วมและพลอยดีใจไปกับโนบิตะด้วย
นอกจากนี้โดราเอมอนยังช่วยให้เด็กได้ระบายอารมณ์ไปด้วยในตัว! ตัวอย่างเช่นโนบิตะ ที่เป็นเหมือนตัวแทนของเด็กๆ ถูกรังแกโดยไม่เคยตอบโต้ได้ แต่ก็สามารถเอาชนะไจแอนท์ได้ด้วยของวิเศษ ผู้อ่านที่เป็นเด็กบางคนอาจเคยมีประสบการณ์แบบโนบิตะ ต้องเก็บความคับแค้นเอาไว้ ดังนั้นจึงเกิดความพึงพอใจเสมือนตัวเองเป็นผู้ชนะไปด้วย เด็กที่ถูกครูหรือแม่บ่นว่า อาจจะมีความไม่พอใจแต่ไม่สามารถตอบโต้ได้ เมื่ออ่านตอนที่โนบิตะแกล้งคุณแม่หรือแกล้งคุณครูนิดๆ หน่อยๆ สำเร็จ ก็ถือว่าเป็นการแก้แค้นอย่างเด็กๆ ทดแทนการระบายอารมณ์โกรธของเด็กๆ นับว่าผู้เขียนมีความเข้าใจเรื่องจิตวิทยาเด็กเป็นอย่างดี

จะเห็นได้ว่า โดราเอมอน โดยเนื้อแท้นั้นไม่มีพิษภัยต่อผู้อ่านเลย แต่กลับส่งผลบวกต่อเด็ก และจากการที่เด็กชอบอ่านการ์ตูนมากกว่าหนังสือประเภทอื่น (Shiela G. Ray, Children’s Librarianship Outlines of Modern Librarianship (London : C.Bingley, 1979) p.37) การ์ตูนจึงเป็นการส่งเสริมความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก การใช้ภาษาที่ดีและสะกดถูกต้องก็จะช่วยสนับสนุนนิสัยรักการอ่านของเด็ก ทั้งนี้มีข้อแม้ว่าผู้ปกครอง ครู ควรให้ความเอาใจใส่ในการอ่านของเด็กด้วย โดยให้รู้จักแบ่งเวลาทำการบ้าน ทบทวนบทเรียนและอ่านหนังสืออื่นๆ บ้าง ไม่ใช่อ่านแต่โดราเอมอนแต่เพียงอย่างเดียว
—————————————————————————————————-
บทความของอาจารย์ทัศนาชิ้นนี้ผ่านมาเกินกว่า ๓๐ ปีแล้ว แต่ยังคงอธิบายถึงอิทธิพลของการ์ตูนที่มีต่อผู้อ่านที่เป็นเยาวชนได้อย่างดีและไม่ล้าสมัย เพียงแต่ต้องยอมรับว่าเด็กในยุคสมัยนี้ต่างจากเด็กๆ ในยุคก่อน เด็กๆ สามารถเสพการ์ตูนได้หลากหลายช่องทางอีกทั้งยังมีตัวเลือกมากมาย
แม้จะมีความพยายามในการควบคุมการ์ตูนที่ไม่เหมาะสมต่อเยาวชน แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้เด็กๆ สามารถเข้าถึงการ์ตูนที่ไม่พึงประสงค์ได้ อันนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ปกครองในการกวดขันสอดส่องดูแลลูกหลาน ต้องให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่เด็กๆ เด็กสมัยนี้โตเร็วทั้งทางร่างกายและความคิด บางครั้งเราต้องยอมรับว่าโลกหมุนไปเร็วกว่ายุคของเรา กลับกลายเป็นเราเสียอีกที่ต้องหมุนตามเด็กๆ ให้ทัน
รศ.ดร. ทัศนา สลัดยะนันท์ ท่านเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว สมัยที่ผมยังเรียนอยู่ที่โน่น ได้รับการถ่ายทอดความรู้จากท่านอาจารย์อยู่หลายวิชา โดยเฉพาะวิชาที่เป็นยาขมหม้อโตอย่าง Cataloging หรือวิชาที่แสนจะสนุกอย่าง วรรณกรรมสังคม (อันนี้รู้สึกว่าผมจะสนุกอยู่คนเดียว เพื่อนๆ ร่วมชั้นไม่มีใครสนุกด้วยซักคน) และวิชาวรรณกรรมเยาวชน ที่ผมไม่ได้ลงทะเบียนเรียน แต่ก็ทะลึ่งเข้าไปนั่งฟังกับเขาด้วยความเพลิดเพลิน
อาจารย์สอนสนุกและไม่ดุเลย ท่านเป็นกันเองกับพวกเรามาก คงเป็นเพราะท่านคลุกคลีกับพวกเด็กๆ มานาน งานวิจัยหลายชิ้นของท่านก็ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน ท่านยังเคยจัดรายการวิทยุออกอากาศที่เชียงใหม่ ชื่อรายการ ‘ใบไม้ผลิ’ เป็นรายการเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน หลังจากจบมาเป็นสิบๆ ปี ยังไม่มีโอกาสขึ้นไปกราบท่านเลย ไว้สบโอกาสเมื่อใดคงได้ขึ้นไปกราบท่านอาจารย์