ไปเยี่ยมชมวัดสุทัศน์ด้วยความบังเอิญที่จู่ๆ เกิดสติแตก จึงออกหาที่สงบเรียบเรียงสมาธิใหม่ มาเดินชมพุทธศิลป์งามๆ ช่วยทำให้ชื่นใจได้
วัดสุทัศนเทพวราราม จัดเป็นอารามหลวงชั้นเอก ตั้งอยู่ตรงข้ามศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร กับ เสาชิงช้า วันนี้สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระราชทานนามว่า วัดมหาสุทธาวาส โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปหล่อสุโขทัยมาจากวิหารหลวง วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย มาประดิษฐาน แต่ยังมิทันจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน เลยมาถึงแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อจนแล้วเสร็จ ทั้งนี้ได้ทรงแกะสลักบานประตูพระวิหารด้วยพระองค์เอง แต่ก็ยังมิแล้วเสร็จก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน
ครั้งถึงสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารจนเสร็จสมบูรณ์ พระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดสุทัศนเทพวราราม และทรงขนานนามพระพุทธรูปสำคัญในพระวิหารว่า พระศรีศากยมุนี และพระพุทธรูปในพระอุโบสถว่า พระตรีโลกเชษฐ์ จากนั้นในแผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้ทำการบูรณะวัดใหม่อีกครั้ง
วัดสุทัศน์ฯ เดินทางไปง่ายดาย เนื่องจากอยู่แทบจะกลางเมือง หากเข้าทางประตูฝั่งเสาชิงช้า ก็จะตรงไปยังพระวิหาร เมื่อเข้าสู่กำแพงพระวิหารจะพบพระพุทธรูปขนาดใหญ่เรียงรายอยู่รอบกำแพงชั้น ในจนครบทุกด้าน เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นบ้าง สำริดบ้าง ปางมาวิชัยบ้าง ปางสมาธิบ้าง ทั้งสิ้นมีอยู่ ๑๕๖ องค์ ด้านล่างจะบรรจุชื่อผู้วายชนม์ที่ญาติมิตรได้อุทิศเงินบริจาคสร้างถวายให้แก่วัด พื้นปูด้วยแผ่นหินอ่อนเย็นสบาย น่าเสียดายที่มีข้าวของวางระเกะระกะอยู่ไม่เป็นระเบียบ บางมุมบางซอกก็มีขยะสุมๆ อยู่ ประตูบางจุดที่ปิดตายก็อยู่ในสภาพทรุดโทรม มีน้ำขัง ผุกร่อน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีคนเข้าไปนอน หมายถึงไปนอนหลับจริงๆ ทั้งที่ติดป้ายไว้ว่าห้ามนอน ไม่แน่ใจว่าเป็นคนทั่วไป หรือเจ้าหน้าที่ในวัดเอง มันก็เย็นสบายน่านอนจริงๆ แหละ แต่มันก็ไม่ใคร่จะสุภาพและน่าชมนักเวลานักท่องเที่ยวหรือพุทธศาสนิกชนเข้ามาเห็น
รอบๆ ตัววัดจะเห็นมีตุ๊กตาหินแบบจีนอยู่มากมาย คล้ายกับที่วัดพระเชตุพนฯ น่าจะสืบเนื่องมาจากในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้นำมาประดับไว้ภายในวัด ซึ่งตุ๊กตาหินเหล่านี้ก็เคยใช้เป็นอับเฉาในสำเภาสินค้าในยุคนั้นเช่นเดียวกับที่วัดพระเชตุพนฯ นั่นแหละ แต่ที่นี่จะขนาดย่อมกว่า
รอบพระวิหารมี ถะ คือประติมากรรมรูปทรงคล้ายพระปรางค์เป็นศิลปแบบจีน สูงกว่า ๒ เมตร ทำจากหิน อยู่รายรอบ น่าจะสืบเนื่องมาจากสมัยรัชกาลที่ ๓ เช่นกัน ทำให้มีกลิ่นอายศิลปะจีนอยู่บ้าง แต่ไม่มากเท่าที่วัดพระเชตุพนฯ
เข้า มาภายในพระวิหาร รู้สึกผิดปรกติเล็กน้อย เนื่องจากตัวพระวิหารมีขนาดใหญ่กว่าที่เคยพบมา แล้วก็เพดานนั้นสูงมาก มาทราบทีหลังว่าเป็นพระวิหารที่มีขนาดและความสูงมากที่สุดในอันดับต้นๆ ของประเทศ ภายในประดิษฐานพระประธานคือ พระศรีศากยมุนี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่มาก พุทธลักษณะงดงาม ที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพระพุทธบัลลังก์ พระศรีศากยมุนี เป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร* ของสมเด็จพระปรเมนมหา อานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ซึ่งโปรดเกล้าให้อัญเชิญมาบรรจุไว้เมื่อ วันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ (*สรีรางคาร คือ เถ้าถ่านที่ปะปนกับกระดูกชิ้นเล็กๆ ที่เผาแล้ว)
บริเวณ ผนังภายในพระวิหารมีการเขียนจิตกรรมฝาผนังอยู่จนเต็ม เล่าเรื่องราวพุทธประวัติ ชาดก ที่เห็นประปรายคือบรรดาลิง ดูคล้ายๆ กับเรื่องรามเกียรติ์ ก็ไม่แน่ใจว่าใช่ด้วยหรือไม่ ด้วยความที่พระวิหารมีขนาดมหึมา ทำให้จิตกรรมฝาผนังของวัดสุทัศน์ดูอลังการมาก น่าเสียดายที่เห็นภาพส่วนด้านบนไม่ชัดนัก แต่ก็พอมองเห็นเค้าลางของความวิจิตรพิสดาร
พระศรีศากยมุนี พระประธานภายในพระวิหาร
มีเกร็ดเล็กน้อยมาเล่าสู่กันฟัง ผู้เฒ่าผู้แก่หรือแม้กระทั่งคนทั่วไปมักจะเล่าขานเรื่องราวของ เปรตวัดสุทัศน์ มีเรื่องเล่าทำนองนี้อยู่เนืองๆ ว่ามีคนเห็นที่วัดสุทัศน์ ขนาดที่ว่าเสาชิงช้าสูงๆ เปรตยังสูงกว่าอีก เรื่องเปรตนี่มีร่ำลือกันมาหลายกระแส บ้างก็ว่ามีที่วัดสุทัศน์เยอะ บ้างก็เจอที่วัดมกุฏฯ สมัยก่อนมีคำพูดกันว่า แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์ อันนี้คุณ ส. พลายน้อย นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ได้ให้ทัศนะไว้น่าสนใจว่า แร้งวัดสระเกศนี่พอจะเข้าใจ เพราะในสมัยโน้นเขาขนศพมาไว้ที่ป่าช้าวัดสระเกศ พวกนกแร้งจึงมีอยู่มากเพราะมาคอยจิกกินซากศพ แต่วัดสุทัศน์นี่ไม่น่าจะจริงเพราะวัดนี้ไม่มีป่าช้า จึงเข้าใจว่าที่เรียกว่าเปรตวัดสุทัศน์ คงหมายใจจะเปรียบเทียบความสูงกับเสาชิงช้า เพราะยุคสมัยนั้นไม่มีตึกสูงๆ ให้เปรียบเทียบ ก็มีแต่เสาชิงช้านี่แหละที่เห็นว่าสูง อีกนัยหนึ่งที่คุณ ส.พลายน้อย ให้ทัศนะก็คือ อาจหมายถึงพวกขอทานที่มาชุมนุมกันบริเวณนี้เนื่องจากอยู่ใกล้กับเทวสถานหรือโบสถ์พราหมณ์ด้วย ส่วนที่เรีกยว่าเป็นเปรตก็เพราะมีพระราชนิพนธ์ในรักาลที่ ๖ ตรัสเรียกขอทานที่สะพานหันว่าเป็น เปรตสะพานหัน ฉะนั้นที่วัดสุทัศน์ก็น่าจะมีความหมายทำนองเดียวกัน และหากมองหาดีๆ จิตกรรมฝาผนังภายในพระวิหารก็มีการวาดรูปเปรตอยู่ (อันนี้ คุณ ส.พลายน้อย เล่าไว้) แต่ข้าพเจ้ามองหาไม่ยักเห็น
วัดสุทัศน์ฯ เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ขอชักชวนให้ไปเยี่ยมชม ความดังของที่นี่นอกจากความงดงามและประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจแล้ว ยังเป็นแหล่งเช่าวัตถุมงคลชื่อดัง (อันนี้ไม่ค่อยสนับสนุน แต่ก็แล้วแต่ความเชื่อนะครับ) ที่ดังที่สุดในช่วงนี้คงจะเป็นข่าวที่ท่าเจ้าอาวาสถูกฟ้องในคดีฉ้อโกงประชาชนร่วมกับ เสี่ยอู๊ด เรื่องสร้างพระสมเด็จเจ็ดสีอะไรนั่นกระมัง น่าเศร้าที่ไปเห็นแก่วัตถุที่ไม่จีรังแทนที่จะเผนแผ่พุทธธรรมอันเป็นสิ่งที่ยั่งยืนแท้จริง
ถะ หรือประติมากรรมลักษณะคล้ายสถูป มีอยู่โดยรอบพระวิหาร
ตุ๊กตาจีนตัวเล็กๆ นั่นก็มีประดับรอบตัววัด ขนาดใหญ่ก็มี
อับเฉา หรือตุ๊กตาหินของจีน มีประดับรอบวัดเหมือนที่วัดโพธิ์ แต่ที่นี่จะขนาดเล็กกว่า
อับเฉาอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นรูปทหารฝรั่งยืนเฝ้ารอบพระอุโบสถ
ถ้าสังเกตโครงหน้าดีๆ จะออกมาทางจีนๆ
ภายในพระวิหารสงบและลมพัดเย็นตลอด มีคนมานั่งสมาธิด้วย
แต่ไอ้กลุ่มตรงกลางนั่นมันมานั่งคุยกัน หลังจากถูกด่าด้วยสายตาก็สำนึกได้และลุกออกไป
ให้ดูความอลังการของพระวิหารที่สูงใหญ่ เต็มไปด้วยภาพจิตกรรมอันโอฬาร
ภายนอกพระวิหารเขาตั้งพระพุทธรูปเอาไว้ให้กราบไหว้ และมีบริการเสี่ยงเซียมซี
เสียงเขย่าเซียมซีดังแคร่กๆ ไปทั้งวัด
ลายปูนปั้นบริเวณ สัตตมหาสถาน เป็นการจำลองสถานที่สำคัญ ๗ แห่งเกี่ยวกับพระพุทธองค์
ดูคล้ายๆ ปูนปั้นที่วัดเจ็ดยอด แต่ไม่ประณีตเท่า
หนึ่งใน สัตตมหาสภาน ตรงนี้น่าจะเป็นตอนที่ธิดาพญามารออกมายั่วยวนกิเลสพระพุทธองค์
พระตรีโลกเชษฐ์ พระประธานภายในพระอุโบสถ
เข้าไปเก็บภาพใกล้ๆ ไม่ได้ เพราะเขากำลังบูรณะกันอยู่