ท่ามกลางเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่ครุกรุ่น เราคงได้ยินชื่อ “สะพานชมัยมรุเชฐ” อยู่อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นบริเวณสำคัญและเป็นใจกลางของเหตุการณ์ความร้อนแรงของการปะทะ แต่ทราบกันหรือไม่ว่าสะพานแห่งนี้มีความสำคัญอย่างไร
คำว่า “ชมัยมรุเชฐ” ราชบัณฑิตยสถานได้ให้คำอธิบายไว้ว่า คำว่า “ชไม” เป็นคำเขมร หมายถึง สอง คำว่า “มรุ” มีความหมายสองอย่างคือ ทะเลทราย ที่กันดาร หรือ เทวดาจำพวกหนึ่ง คำว่า “เชฐ” น่าจะหมายถึง “เชษฐ” แปลว่า พี่ผู้เป็นใหญ่ หรือถ้าเป็นคำวิเศษณ์จะหมายถึง เจริญที่สุด แต่เป็นไปได้ที่อาจมีความหมายอีกทางหนึ่ง หากคำว่า “มรุ” แผลงมาจากคำว่า “มร” แปลว่า ตาย จึงอาจแปลความได้ว่า สองพี่ผู้ล่วงลับ
หากนับตามความหมายนี้จะตรงกับวัตถุประสงค์ในการสร้างสะพานแห่งนี้ คือเพื่ออุทิศเป็นพระกุศลถวายแด่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ ซึ่งเจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์เป็นพระเชษฐาใน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ ในโอกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษาเท่าพระชนมพรรษาของสมเด็จพระเชษฐาทั้ง สองพระองค์ โดยได้ทรงพระราชศรัทธาบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างขึ้น
เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์, สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระมารดา
และกรมหลวงสงขลานครินทร์ พระอนุชา
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร เป็นพระราชธิดาลำดับที่ ๔๓ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประสูติเมื่อวันพุธ ที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๗ ทรงเป็นพระเชษฐภคินีใน สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ หรือเป็นสมเด็จพระราชปิตุจฉา (ป้า) ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
สะพานชมัยมรุเชฐ ตั้งอยู่ ณ จุดที่ถนนพิษณุโลกตัดข้ามคลองเปรมประชากร บริเวณแยกพานิชยการ เขตดุสิต ใกล้กับทำเนียบรัฐบาลและวัดเบญจมบพิตร กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๒ ตอนที่ ๖๑ วันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๘
น่าเสียดายที่โบราณสถานที่สำคัญของชาติ กลับกลายเป็นสมรภูมิที่คนไทยเข้าห้ำหั่นกันเอง โดยหลงลืมไปว่าทุกคนล้วนสายเลือดเดียวกัน
ข้อมูลจาก
– พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒.
– จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๕๒๕.