ไปสำรวจ Love Hotel กัน (เฉพาะข้างนอกนะครับ ข้างในไม่ได้เข้าไป…จริง ๆ น้า)
.
มันเริ่มตรงที่พยายามหาที่พักใกล้สถานีรถไฟ ใช้ Google Map ไปสะดุดที่ Uguisudani Station ใกล้กับ Ueno เพราะไม่อยากเจอคนเยอะ ที่นี่จึงเข้าตา เป็นสถานีเล็กๆ ทางผ่านชุมทางรถไฟหลายสาย ดูคร่าวๆ เห็นว่าแถบนี้ Hotel เพียบเลย แต่พอส่องผ่าน Street View แล้วจึงร้องอ๋อ นี่มันแหล่ง Love Hotel นี่หว่า
.
เรียกแบบบ้านเราก็คือโรงแรมม่านรูดนั่นล่ะ แต่คุณภาพล้นแก้วกว่าเยอะ สภาพมันคือโรงแรมสะอาดเอี่ยม สิ่งอำนวยความสะดวกครบเหมือนโรงแรมปกติ แต่พิเศษตรงที่จุดประสงค์ในการใช้บริการ ถ้าเป็นบ้านเราเข้าไปแล้วอาจอารมณ์หด แต่ที่นั่นบรรยากาศชวนให้อารมณ์กระเจิง (ศึกษามาครับ ไม่ได้ไปใช้บริการจริงๆ นะ) คนญี่ปุ่นเข้าใช้บริการกันเป็นเรื่องปกติ ถ้าเมาๆ จนตกรถไฟก็เข้ามานอนค้างได้ หนุ่มสาวเข้ามาใช้บริการกันออกถม ไม่มีเช็คประวัติด้วย บางแห่งหรือเกือบทุกแห่งก็แทบจะไม่เห็นหน้าค่าตาพนักงาน คือเซฟความเป็นส่วนตัวกันสุดๆ
ญี่ปุ่น
ย่าน Jimbocho หรือ Book Town ในโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นี่คือแหล่งหนังสือมือสองที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น วางแผนไว้มาต้องมาเยือนให้ได้ ถึงจะมีเวลาอยู่ได้ไม่นาน แต่ก็สนุกสนานไปกับหนังสือทั้งเก่าและใหม่มากมาย ต่อให้อ่านไม่ออก ได้ดู ได้สัมผัส ก็อิ่มเอม
ห่างจากแหล่งบันเทิง Akihabara เพียง ๒-๓ สถานี จากโลกแห่งแสงสีละลานตามาสู่ความเข่งขรึมของกองหนังสือเก่าท่วมหัว ย่านนี้เป็นแหล่งรวมของปัญญาชนในอดีต ปัจจุบันก็ยังเป็น เพราะมีสถาบันการศึกษารายล้อมหลายแห่ง อย่างเช่น Tokyo Medical and Dental University Kyōritsu Women’s University Juntendo University สมัยขะโน้นพวกบัณฑิตชอบมารวมตัวกันถกปัญหาบ้านเมือง จนทางการต้องคอยส่งคนมาสอดส่องเฝ้าตามเป็นระยะ เคยถูกพระเพลิงเผาราบมาครั้งหนึ่ง แต่ก็ฟื้นตัวขึ้นมาใหม่จนได้ ค.ศ. ๑๙๑๓ สำนักพิมพ์เล็กๆ แห่งหนึ่งกำเนิดขึ้นชื่อว่า Iwanami Shoten ปัจจุบันกลายเป็นสำนักพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ ทุกวันนี้ผ่าน Jimbocho ยังคงเป็นแหล่งพบปะของเหล่าหนอนหนังสือทุกรุ่น และยังมีอาคารสำนักงานขนาดใหญ่มากมาย บรรยากาศจึงไม่เงียบเหงา แถวยังมีร้านอาหารอร่อยๆ เพียบด้วย Continue Reading
หนึ่งในหนังสยองขวัญสั่นประสาทที่ผมประทับใจมากๆ นั่นคือ Ringu หนังที่สร้างจากสุดยอดนวนิยายสยองขวัญสายพันธุ์ญี่ปุ่นของ ซุสุกิ โคจิ ที่ออกฉายเมื่อปี ๑๙๙๘ แต่กว่าจะได้โอกาสเข้ามาฉายในบ้านเราก็หลังจากนั้นอีกหลายปี ยกเว้นว่าใครพอจะหาวิดีโอเถื่อนมาดูกันได้ (ในสมัยนั้น) ก็ได้รับอารมณ์สยดสยองตามแบบฉบับหนังผีแดนปลาดิบ จนเป็นที่กล่าวขานกับปากต่อปาก
ผมมีโอกาสได้ดู Ringu ก็ราวปี ๒๐๐๐ ด้วยอานิสงน์จากร้านเฟม ท่าพระจันทร์ ตอนนั้นยังเป็นยุควิดีโออยู่ ซึ่งก็ได้อารมณ์ร่วมกับเนื้อหาพอดิบพอดี ยอมรับว่าตอนนั้นรู้สึกเสียวสันหลังแว้บๆ บ้างในตอนไคลแมกซ์ท้ายเรื่อง แต่ที่ชอบมากกว่านั้นคือลีลาการดำเนินเรื่องที่ค่อยๆ บิ้วท์อารมณ์คนดูทีละน้อยๆ เพิ่มความสงสัยใคร่รู้ไปทีละนิด จนกระทั่งมาตุ้งแช่เอาตอนท้ายเรื่องนั้นแหละ
ล่าสุด Ringu ถูกนำมารีเมคใหม่เป็นแบบสามมิติตามสมัยนิยม ผีซาดาโกะคนใหม่ สวยใสกว่าเดิม และเทคนิคการนำเสนอที่ว่ากันว่าสยองกว่าเดิม โดยเฉพาะฉากซาดาโกะคลานออกมาจากทีวี ซึ่งผมยังนึกอยู่ว่าถ้าเป็นแบบสามมิติมันจะเหวอแค่ไหน
ลองค้นหาในเน็ทดูแล้วพบว่าข่าวคราวของ Ringu เวอร์ชั่น ๒๐๑๒ เป็นที่ฮือฮามากในญี่ปุ่น จากกลยุทธ์การตลาดที่สุดยอด แค่ดูจากภาพข่าวก็โคตรมันแล้ว
ชอบไอเดียนี้มากๆ เลย อยากเอาตั้งไว้ที่บ้านซักตัว
อาศัยความเป็นสามมิติมาเป็น main concept ในการโปรโมท ในข่าวเห็นว่าคนญี่ปุ่นฮือฮากันสุดๆ อย่างการจับโมเดลซาดาโกะตัวเบ้อเริ่มที่กำลังคลานออกมาจากทีวีใส่รถแห่ไปทั่วเมือง แค่นี้ก็ทำเอาคนเดินถนนเหวอกันแล้ว แล้วยังมีขบวนซาดาโกะเป็นฝูงเดินเข้าแถวยาวเหยียดในย่านธุรกิจ ผมว่าเป็นการโหมโรงหนังที่ดูเหวอๆ ยังไงไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ คือสร้างความน่าสนใจและสร้างการรับรู้ (Brand Awareness) ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ความมันยังไม่หมด ในการแข่งขันเบสบอลลีกของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกีฬาที่ชาวญี่ปุ่นนิยมดูสุดๆ แต่ละเกมจะมีคนดูเป็นหมื่นๆ และมักจะเป็นประเพณีที่จะมีคนดังให้เกียรติขว้างลูกเปิดเกม และคนดังล่าสุดก็คือนังผีซาดาโกะ ที่จู่ๆ ก็เดินหัวกระเซิงเข้ามาขว้างลูกเปิดเกมระหว่างทีม ฮฮกไกโด นิปปอน กับ ชิบะ ล็อตเต้ มารีนส์ ทำเอาคนดูอึ้งกิมกี่ไปเลย
ยังไม่หมด อันนี้เพิ่งเห็นจนทำเอาอึ้งเมื่อผีซาดาโกะลามปามมาถึง Hello Kitty เจ้าแมวคิกขุขวัญในสาวๆ … อ่านไม่ผิดหรอกครับ คิตตี้จังกลายเป็นซาดาโกะจริงๆ เอากะแม่งสิ
เอากะแม่งสิ คิตตี้กลายเป็นซาดาโกะ!
สำหรับใครที่ยังไม่เคยรู้จักผีซาดาโกะ ลองไปหาหนังสือมาอ่านหรือเช่ามาดูก็ได้ครับ มีทั้งเวอร์ชั่นญี่ปุ่นและฮอลลิวู้ด แต่ขอแนะนำว่าดูของญี่ปุ่นเถอะ ไม่แน่ใจว่าจะหาเช่าดูได้ไหมตอนนี้ เรื่องราวของ Ringu ว่าด้วยเรื่องของวิดีโอสยองขวัญ (สมัยนั้นยังเป็นวิดีโอ DVD ยังไม่แพร่หลาย) ที่ว่ากันว่าใครดูแล้วจะต้องตายภายใน ๗ วัน แล้วมันก็ถูกเผยแพร่ส่งต่อดูกันเป็นทอดๆ ตัวละครเอกของเราคือ อาซาคาวะ นักข่าวสาวที่ดันเข้ามาพัวพัน ทีแรกเธอก็ไม่เชื่อแต่เมื่อเหตุการณ์ต่างๆ ประเดประดังเข้ามา เธออก็เริ่มเห็นจริง ที่ร้ายที่สุด ลูกชายสุดที่รักของเธอก็ได้ดูวิดีโอม้วนนั้นแล้ว เธอจึงเหลือเวลาอีกไม่มากที่จะไขปริศนาทั้งหมดก่อนที่มันจะสายเกินไป
ฉากที่ฮือฮามากคือช่วงท้ายเรื่องที่ผีซาดาโกคลานออกมาจากทีวี ช็อตนี้ถูกนำมาล้อเลียนในหนังหลายเรื่องๆ เป็นฉากคลาสสิกอีกฉากหนึ่งของหนังญี่ปุ่นเลยทีเดียว
ไม่แน่ใจว่า Ringu เวอร์ชั่นใหม่จะเข้ามาฉายในบ้านเรารึเปล่า ถ้าเข้ามาจริงผมก็ไม่รู้ว่าเขาจะใช้กลวิธีประชาสัมพันธ์มันๆ แบบที่ญี่ปุ่นไหมน้อ นึกไม่ออกจริงๆ ว่าซาดาโกะจะเข้าสิงใครในบ้านเราบ้าง … หรือจะเป็นผู้หญิงคนนั้น … ถ้าเป็นจริงผมก็ไม่รู้อีกเหมือนกันว่าเธอจะ “เอาอยู่” รึเปล่า
ผีซาดาโกะไปโผล่ที่สนามเบสบอล
ภาพบรรยากาศของการโปรโมท Ringu 3D (ภาพจาก http://www.crunchyroll.com)
คิตตี้ซาดาโกะ ในรูปแบบต่างๆ
ถ้านกทั้งหลายไม่ยอมร้องเพลง…ฉันจะฆ่ามันให้หมด (โนบูนางะ)
ถ้านกทั้งหลายไม่ยอมร้องเพลง…ฉันจะสอนให้มันร้อง (ฮิเดโยชิ)
ถ้านกทั้งหลายไม่ยอมร้องเพลง…ฉันจะเฝ้ารอให้มันร้องเอง (อิเอยาสุ)*
ประโยคทั้งสามข้างต้นนี้เป็นการบรรยายถึงลักษณะนิสัยของอดีตผู้ยิ่งใหญ่ของญีปุ่นในยุคแรกเริ่มได้เป็นอย่างดี
ถ้าเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เรามักจะคุ้นเคยกับคำ ๓ คำ นั่นคือ สมเด็จพระจักรพรรดิ โชกุน และไดเมียว ส่วนใหญ่เราอาจจะมีความเข้าใจสับสนกันระหว่าง ๓ คำนี้ ซึ่งคนไทยอาจจะได้รับข้อมูลมาจากสื่อต่างๆ ทั้งข่าว ละคร การ์ตูน หรือนิยายต่างๆ คำว่าสมเด็จพระจักรพรรดิ หรือ จักรพรรดิ มีความหมายตรงตัวคือผู้ปกครองอาณาจักร หรือก็คือตำแหน่งกษัตริย์นั่นเอง มีการสืบทอดกันมาตามสายเลือด มีอำนาจปกครองสูงสุดหรือเป็นเจ้าชีวิตนั่นเอง
คำว่า โชกุน คือตำแหน่งผู้บริหารราชการแผ่นดินหรือจะเปรียบกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ได้ ซึ่งควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดไว้ด้วย เนื่องจากมีอำนาจควบคุมกองกำลังทหารไว้ในมือ ทั้งกองกำลังของตนเองหรือกองกำลังของราชสำนัก ตำแหน่งโชกุนใช้วิธีการสืบทอดกันตามสายเลือดเช่นเดียวกัน คือเป็นพระญาติหรือผู้สืบเชื้อสายจากสมเด็จพระจักรพรรดิ ในบางยุคที่สมเด็จพระจักรพรรดิมีอำนาจเข้มแข็ง มีพระปรีชาสามารถมาก ก็สามารถกุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินและกองทัพไว้ในการควบคุมของพระองค์ แต่ในบางยุคสมัยที่ราชสำนักอ่อนแอ โชกุนจึงก้าวขึ้นมามีอำนาจเหนือพระจักรพรรดิ คอยชักใยอยู่เบื้องหลัง ดังที่เราเคยเห็นกันในละครหรือในการ์ตูนอยู่ทุกบ่อย
คำว่า ไดเมียว คือตำแหน่งผู้ปกครองหัวเมืองหรือบรรดาเจ้าเมืองต่างๆ ที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของโชกุนหรือสมเด็จพระจักรพรรดิอีกทอดหนึ่ง ตำแหน่งไดเมียวไม่จำเป็นต้องสืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระจักรพรรดิ นายทหารชั้นผู้ใหญ่หรือแม่แต่คนธรรมดา หากมีความสามารถก็สามารถขึ้นครองตำแหน่งไดเมียวได้เช่นกัน
ไดเมียวนั้นมีเมืองและกองกำลังทหารเป็นของตนเอง ในบางครั้งจึงปรากฏว่ามีไดเมียวบางคนพยายามตั้งตนเป็นใหญ่ โดยการโค่นล้มไดเมียวอื่นๆ บางยุคสมัย ไดเมียวคนสำคัญอาจจะมีบารมีมากกว่าโชกุนเสียด้วยซ้ำ แต่ด้วยประเพณีที่สืบทอดกันมา ทำให้ไดเมียวนั้นๆ ไม่สามารถเปลี่ยนสถานะขึ้นเป็นโชกุนได้ ตัวอย่างเช่น โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ (ค.ศ. ๑๕๓๖-๑๕๙๘) ในช่วงที่เขาเรืองอำนาจสูงสุด ก็ยังไม่สามารถก้าวขึ้นเป็นโชกุนได้ เนื่องจากเขาเกิดในครอบครัวชาวนา แต่ในทางปฏิบัติแล้วเขากุมอำนาจการบริหารเอาไว้ในมือเพียงผู้เดียว
โทกุงาวะ อิเอยาสุ ผู้นำทางการทหารคนสำคัญ ได้รับการแต่ตั้งจากพระจักรพรรดิให้ดำรงตำแหน่งโชกุน เมื่อ ค.ศ. ๑๖๐๓
โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ผู้นำทางการทหารคนสำคัญอีกท่าหนึ่ง แต่ไม่สามารถเป็นโชกุนได้เนื่องจากมีเชื้อสายมาจากชาวนา
ทั้งสามตำแหน่งข้างต้นนี้ล้วนแต่มีบทบาทในประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นมาช้านาน ในบางยุคสมัยเราจะพบว่าการบริหารบ้านเมืองนั้นตกอยู่ในเงื้อมมือของโชกุนแทนที่จะเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิ เนื่องจากราชสำนักอ่อนแอ ตำแหน่งจักรพรรดิจึงเป็นเสมือนหุ่นเชิดเท่านั้น หรือในบางยุคที่โชกุนอ่อนแอ บรรดาไดเมียวต่างๆ จึงพากันแข็งเมือง และก้าวขึ้นมามีบทบาทเหนือโชกุนที่เปลี่ยนสถานะมาเป็นเพียงหุ่นเชิดบ้าง ทั้งหมดนี้ต่างสลับหน้าที่และบทบาทไปตามสถานภาพของแต่ละสกุล ซึ่งไม่ต่างไปจากอาณาจักรอื่นๆ ในโลก ที่ผู้ที่แข็งแกร่งเท่านั้นจึงจะได้ครองอำนาจสูงสุด
ประเทศญี่ปุ่นนั้นมีประวัติศาสตร์อันยาวนานพอสมควร แม้ในปัจจุบันจะมีสภาพภูมิประเทศเป็นเกาะ แต่ในอดีตนั้นเชื่อว่าญี่ปุ่นเคยเป็นผืนแผ่นเดียวกับแผ่นดินใหญ่ เนื่องจากมีการขุดสำรวจพบกระดูกช้างโบราณ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ท้องถิ่นของญี่ปุ่น แต่เพราะการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา ทำให้ญี่ปุ่นแปรสภาพกลายเป็นเกาะอย่างในปัจจุบัน
ประชากรบนเกาะญี่ปุ่นนั้นไม่สามารถระบุชี้ชัดไปได้ว่ามาจากที่ใด แต่จากสภาพที่ถูกโดดเดี่ยวจากแผ่นดินใหญ่ ทำให้ชาวญี่ปุ่นในยุคแรกๆ ตื่นตัวในการเรียนรู้วัฒนธรรมของคนต่างถิ่น ในทางตรงข้ามพวกเขาเองได้รับปกป้องจากการรุกรานของประเทศอื่นเช่นกัน จึงไม่ได้วิตกในเรื่องของการถูกผสมผสานด้านวัฒนธรรมเสียเท่าไหร่
* จาก Croft, A. History of the Far-East. New York: Longmans, Green, 1958. แปลความโดย รศ.เพ็ญศรี กาญจโนมัย
The Cat Returns อนิมเชั่นน่ารักๆ ดูสบายๆ ของ Studio Ghibli ผู้สร้าง Totoro และผลงานสร้างชื่ออย่าง Spirited Away ว่ากันว่า Cat Returns เป็นผลงานคั่นเวลาของพวกเขา แต่กลับยังคงเปี่ยมด้วยคุณภาพ แถมเพลงประกอบแสนเพราะจนฮิตไปทั่วญี่ปุ่น ที่บ้านเราก็ฮิตพอกัน เคยได้ยินเปิดบ่อยๆ ตามร้านรวงต่างๆ ถ้าท่านได้ฟังแล้วน่าจะร้องอ๋อกันขึ้นมาบ้าง
ผลงานของ Studio Ghibli ที่พอจะหาชมได้ในบ้านเราก็อย่างเช่น My Neighbor Totoro ออกฉายในปี ๑๙๘๘ นานขนาดนั้นแต่ความสวยงามและเนื้อหายังคงทันสมัยไม่เปลี่ยน และบ้านเราเพิ่งจะมานิยมเจ้าสัตว์ประหลาดตัวอ้วนนี่เมื่อไม่นานมานี้เอง หลังจากมีการผลิต DVD การ์ตูนเหล่านี้ออกมาอีกครั้งหนึ่ง อีกเรื่องหนึ่งที่แฟนการ์ตูนรู้จักกันดี สุสานหิ่งห้อย (Grave of the Fireflies) ชีวิตอันแสนรันทดของสองพี่น้องในช่วงสงครามโลก ถ้าใครว่าไม่เศร้าก็เกินไปหน่อยละ, แม่มดน้อยกิกิ (Kiki’s Delivery Service) เรื่องนี้ออกฉายในปี ๑๙๘๙ เล่าเรื่องราวของแม่มดที่ทำหน้าที่เป็นคนส่งของ, Pompoko ฉายปี ๑๙๙๔ เรื่องของฝูงทานูกิจอมแสบที่พยายามปกป้องป่าผืนสุดท้ายเอาไว้ และที่โดดเด่นเป็นสง่ามีรางวัลออสการ์อนิเมชั่นยอดเยี่ยมปี ๒๐๐๓ เป็นประกันก็คือ Spirited Away
โลโก้ของ Studio Ghibli เอาตัวละคร โต๊ะโตโร่ มาทำเป็นโลโก้
Cat Returns กำกับโดย Hayao Miyazaki (ผู้กำกับ Spirited Away) ออกฉายในปี ๒๐๐๒ เป็นการ์ตูนแฟนตาซีใสๆ ดูเพลิน ไม่ยาวมากนัก ลายเส้นนั้นสบายตาจริงๆ ไม่มีการเล่นลูกเล่นอะไรมากมาย เป็นการ์ตูนที่เป็นการ์ตูน คือไม่เน้นความสมจริงของภาพมากนัก ยังคงความเป็นภาพสองมิติอยู่ ถ้าหากเปรียบเทียบกับผลงานชิ้นอื่นๆ จะเห็นว่า Cat Returns ออกจะดูง่ายๆ สบายๆ ไม่ซีเรียสมากนัก แบ๊คกราวนด์วาดโดยใช้สีน้ำทำให้ดูสดใสและโปร่งสบาย บางซีนอาจคิดไปได้ว่าเหมือนวาดยังไม่เสร็จดี คือมันดูโล่งๆ ยังไงพิกล โดยเฉพาะเหตุการณ์ในนครแมวเหมียว ส่วนเรื่องของเนื้อหาก็ไม่ได้เอาจริงเอาจังอะไรนัก เป็นเหมือนเรื่องเล่าการผจญภัยสนุกๆ เรื่องนึง ไม่ได้แฝงปรัชญาอะไรยิ่งใหญ่จนดูยาก แต่ถึงกระนั้นเมื่อดูโดยรวมแล้วแม้จะเป็นงานคั่นเวลาแต่ก็ยังแน่นไปด้วยคุณภาพ สมกับเป็นอนิเมชั่นของญี่ปุ่น
ฮารุ ก็เป็นเหมือนเด็กสาวมัธยมทั่วไป เธอสดใสร่าเริงมีพลังเหลือเฟือ ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง จิตใจดี แอบชอบเด็กหนุ่มห้องเดียวกัน ชีวิตของฮารุก็คงจะราบเรียบไปเรื่อยๆ หากเธอไม่ไปช่วยชีวิตแมวสีเทาตัวนึงเข้าให้ เธอแทบไม่เชื่อสายตาเมื่อแมวตัวนั้นยืนสองขาโค้งคำนับขอบคุณเธอ และหลังจากวันนั้นก็เกิดเรื่องราวแปลกๆ ขึ้นกับเธอ
เช้าวันรุ่งขึ้นรอบๆ ตัวฮารุก็มีฝูงแมวรายล้อมเต็มไปหมด เหมือนกับเธอเป็นตัวดึงดูดแมวจากทุกสารทิศ ตกดึกฮารุก็เจอกับขบวนแห่แมว นำสาส์นแสดงความขอบใจมาจากพระราชาแมว เพราะแมวที่เธอช่วยชีวิตนั้นคือเจ้าชายแห่งนครแมว ฮารุจึงเป็นผู้มีบุญคุณอันใหญ่หลวงที่ต้องตอบแทน แต่สิ่งตอบแทนที่เธอ (ถูกบังคับ) ได้รับคือการได้แต่งงานกับเจ้าชายที่นครแมวซะงั้น
ขณะที่เธอกำลังงุนงงอยู่นั้นก็มีเสียงลึกลับแนะนำให้เธอไปหาใครคนหนึ่งที่สามารถช่วยเธอได้ ฮารุ เดินทางไปพบใครคน (ตัว) นั้น โดยมีแมวอ้วนที่ชื่อ มุตะ เป็นผู้นำทาง มุตะ แมวอ้วนปากปีจอพาฮารุมายังสำนักงานนักสืบแห่งหนึ่งเพื่อมาพบกับ บารอน แมวหนุ่มสุดเท่ที่รับปากจะช่วยเธอจากเรื่องเพี้ยนๆ นี่ ทันใดนั้นเองฮารุก็ถูกลักพาตัวไปยังนครแมวเพื่อเตรียมตัวเข้าพิธีวิวาห์กับเจ้าชาย
ฮารุเข้าร่วมงานฉลองในพระราชวัง ตอนแรกๆ เธอเริ่มจะสนุกไปกับสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ รอบตัว จนเมื่อเธอเริ่มรูสึกตัวว่าจะกลายเป็นแมวเข้าไปทุกทีนั่นแหละจึงได้เริ่มเป็นกังวล และยิ่งถ้าเธออยู่ที่นครแมวแห่งนี้นานวันเข้าเธอก็จะกลายเป็นแมวไปโดยสมบูรณ์ ก่อนที่เหตุการณ์จะเลวร้ายไปกว่านั้น บารอนและมุตะ ก็เข้ามาช่วยเธอได้ทันเวลา
ขณะที่กำลังจนมุมจากกไล่ล่าของทหารแมวนั่นเอง ลูน เจ้าชายแห่งนครแมวที่ฮารุช่วยชีวิตไว้ก็เข้ามาคลี่คลายสถานการณ์ เพราะคนที่เจ้าชายรักไม่ใช่ฮารุ แต่เป็น ยูกิ แมวรับใช้ในพระราชวังต่างหาก และยูกินี่แหละที่เป็นเจ้าของเสียงลึกลับที่คอยช่วยฮารุอยู่ตลอดเวลา เพื่อตอบแทนฮารุที่เคยแบ่งขนมให้เธอทานเมื่อสมัยที่ฮารุยังเป็นเด็ก
เรื่องราวคลี่คลายลงอย่างแฮปปี้เอ็นดิ้ง ฮารุกลับมาใช้ชีวิตตามประสาเด็กสาวทั่วไปอย่างเดิม มุตะยังคงนอนอย่างขี้เกียจอยู่ที่ร้านริมถนนเหมือนเดิม การผจญภัยครั้งนี้ก็กลายเป็นความทรงจำอันแสนสุขของฮารุไปตลอดกาล
Ayano Tsuji ผู้ร้องเพลงประกอบ
นอกจากภาพที่สดใสและเนื้อเรื่องที่สนุกสนาน เพลงประกอบก็โดดเด่นไม่แพ้กัน เมื่อตอนที่ข้าพเจ้าได้ชมครั้งแรกจากร้านเฟม ท่าพระจันทร์ ตอนจบมีบันทึกเบื้องหลังการถ่ายทำ เบื้องหลังนักแสดงผู้ให้เสียงพากย์ และมิวสิควิดีโอเพลงประกอบน่ารักๆ จากนักร้องน่ารักๆ Ayano Tsuji ที่มีอูคูเลเล่ตัวน้อยเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว แต่รู้สึกว่าเดี๋ยวนี้เขาทำเป็น DVD แล้ว และช่วงพิเศษตอนท้ายที่ว่าอาจจะถูกตัดทิ้งไปแล้วก็ได้
ไม่รู้เหมือนกันว่า Cat Returns จะให้คติเตือนใจอะไรเราบ้างรึเปล่า แต่สวยและสนุกมาก ฟังเพลงประกอบก็คุ้มแล้วล่ะ ลองไปหามาชมกันครับ มีขายในบ้านเราแล้ว
(มีสปอยล์ตอนจบนะ บอกไว้ก่อน)
แต่ก่อนแต่ไรหนังผีแดนปลาดิบไม่ค่อยถูกกับคนบ้านเราเสียเท่าไหร่ ไม่ใช่เพราะความน่ากลัวหรอกแต่เพราะมันไม่น่ากลัวต่างหาก คนไทยเคยชินกับผีไทยประเภทแม่นาค กระสือ แต่ผีของญี่ปุ่นมักจะออกมาในรูปของวิญญาณหรืออยู่ในรูปของอสุรกายซึ่งคนไทยไม่คุ้นเคย จนกระทั่งกระแสหนังผีญี่ปุ่นถูกพัดกระพืออีกครั้งในปี ๑๙๙๘ จากภาพยนตร์ที่สร้างจากนิยายสยองขวัญชื่อดัง Ringu ประพันธ์โดย โคจิ ซึสึกิ (Koji Suzuki)
กระแสของ Ringu หรือ The Ring ทำให้หนังผีญี่ปุ่นกลายเป็นของนิยมสำหรับคอหนังสยองขวัญบ้านเรา รวมถึงหนังผีย่านใกล้เคียงอย่างเกาหลีก็ด้วย โดยส่วนตัวแล้วข้าพเจ้าคิดว่ามันไม่ค่อยน่ากลัวสักเท่าไหร่ แต่จะออกแนวเหวอๆ มากกว่า คงเพราะเราไม่ค่อยคุ้นชินกับกลวิธีการหลอกของผีต่างชาติ แต่ที่ชอบใจประการหนึ่งก็คือ หนังผีญี่ปุ่นมักจะสอดแทรกความเป็นดราม่าเข้าไป บางทีทำเอาผู้ชมสะเทือนใจไปกับโศกนาฏกรรมของตัวละครเสียด้วยซ้ำ แต่ที่รู้สึกจะออกแนวขำๆ ก็คือท่าทางการเคลื่อนไหวของบรรดาผีๆ ที่เดินกันดีๆ ไม่เป็น ต้องคืบต้องคลานแล้วก็ต้องกระตุกเป็นจังหวะๆ ไม่รู้ว่ามันน่ากลัวตรงไหน
บังเอิญไปเจอหนังผีญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งชื่อเรื่องภาษาอังกฤษว่า The Slit Mouth Woman แปลกันโต้งๆ ว่า อีสาวปากฉีก ดูแล้วไม่ถึงกับชื่นชอบนัก ออกจะสะดุดไม่ไหลลื่นเสียด้วยซ้ำ แต่รู้สึกว่ารสชาติมันแปลกดี
ตำนานเรื่องผีสาวปากฉีกนี่เป็นตำนานยอดฮืตเรื่องหนึ่งของญี่ปุ่น เหมือนกับที่บ้านเรามีเรื่องเล่าของแม่นาค กระสือ เปรต ที่ญี่ปุ่นเขาก็มีเหมือนกัน จะออกแนวนิทานพื้นบ้านเกี่ยวกับภูติผีเสียมาก ผีของญี่ปุ่นนี่เขาแบ่งประเภทกันด้วย
แบบแรกเขาเรียกว่า Obake เป็นพวกวิญญาณในรูปของควันหรือหมอก ไม่มีตัวตนแต่สามารถเข้าสิงอะไรก็ได้ทั้งคน สัตว์หรือสิ่งของ อย่างที่เราเคยเห็นในหนังหรือการ์ตูน เช่น ร่มผี โคมไฟ แผ่นหิน แบบที่สองเรียกว่า Yokai พวกนี้คือพวกอสุรกายหรือปีศาจชนิดต่างๆ ที่มีรูปร่างเป็นตัวเป็นตน เช่น กัปปะ ปีศาจจิ้งจอก เปรต เท็นคุ ผีไร้หน้า ผีคอยาว ฯ แบบสุดท้ายเรียกว่า Yurea พวกนี้คือวิญญาณคนตายที่ยังไม่ไปผุดไปเกิดยังคงวนเวียนอยู่ทั้งในโลกมนุษย์และโลกของภูติผี เป็นวิญญาณที่ยังคงมีอะไรคั่งค้างในใจเกิดเป็นห่วงหรือความพยาบาท บ้างก็สามารถปรากฎตัวในตอนกลางวันได้ด้วย ส่วนใหญ่เป็นพวกที่ตายโหงหรืออุบัติเหตุ อย่างเช่น ผีซาดาโกะในหนังเรื่อง The Ring หรือผีโทรศัพท์ใน One Missed Call
สำหรับตำนานสาวปากฉีกเป็นเรื่องเล่ามาแต่ครั้งโบราณ สาวสวยนางหนึ่งเป็นภริยาของซามูไร หญิงสาวนั้นหน้าตางดงามมากใครเห็นใครก็ชมชอบ ฝ่ายสามีซึ่งคงจะโรคจิตพอสมควรดันกลัวว่าหญิงสาวจะคบชู้ เลยใช้ดาบตัดปากของเธอจนขาดถึงใบหู แล้วเยาะว่า ดูซิ แบบนี้จะมีใครชมว่าสวยอีกมั้ย พอหญิงสาวตายไปเธอจึงกลายเป็นวิญญาณที่อาฆาตแค้น เธอมักจะดักรอผู้คนในช่วงพลบค่ำโดยจะสวมผ้าปิดปากไว้ พอมีใครผ่านมาเธอก็จะถามว่า “ฉันสวยมั้ย” ถ้าตอบว่าสวยเธอก็จะเปิดผ้าออกแล้วถามอีก แล้วอย่างงี้ล่ะยังสวยอยู่มั้ย ถ้าตอบว่าไม่สวยหรือตกใจกลัวก็จะโดนเธอทำร้าย (บ้างก็ว่าจะโดเธอฉีกปากให้เหมือนเธอ) แต่ถ้าทำใจแข็งไม่วิ่งหนีแล้วตอบว่าก็ยังสวยอยู่ เธอก็จะพอใจและจากไปเอง…เป็นพวกผีบ้ายอ
สำหรับภาพยนตร์ The Slit Mouth Woman จับเอาตำนานเรื่องสาวปากฉีกมาทำใหม่ เปลี่ยนจากหญิงสาวที่ถูกสามีทำร้ายมาเป็นคุณแม่ยังสาวที่มีอาการทางจิต เริ่มเรื่องด้วยเรื่องเล่าขานในหมู่เด็กนักเรียนเกี่ยวกับหญิงสาวที่โผล่ออกมาที่สวนสาธารณะตอนค่ำๆ พร้อมด้วยผ้าปิดปาก เด็กๆ โจษจันกันว่าเธอคือสาวปากฉีกที่ออกมาหาเหยื่อ ขณะเดียวกันนั้นตัวหนังก็โฟกัสไปยังเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ดูท่าทางจะเป็นเด็กมีปัญหา ชอบเก็บตัวและมักจะสวมผ้าปิดปากอยู่เสมอ หนังมาเฉลยเอาว่าเธอถูกทำร้ายจากผู้เป็นแม่ คุณครูประจำชั้นสาวและคุณครูหนุ่มอีกคนหนึ่งต่างก็รู้เรื่องนี้ดีและพยายามหาทางแก้ไขปัญหานี้ให้เด็กหญิง แต่ไปๆ มาๆ หนังก็สร้างพล็อตย่อยขึ้นมาอีกว่าคุณครูทั้งสองต่างก็ประสบกับเหตุการณ์การทารุณกรรมเด็ก (Child Abuse) ทั้งฝ่ายผู้ถูกกระทำและเป็นผู้กระทำเสียเอง!
คุณครูยามาชิตะเป็นคุณแม่ลูกหนึ่งที่แยกทางกับสามี โดยลูกสาวคนเดียวของเธออยู่กับฝ่ายสามี เพราะเธอมีอาการทางประสาทที่มักจะทำร้ายลูกสาวอยู่เสมอ จนกระทั่งปัจจุบันที่เธอสลัดอาการที่ว่านี้ไปจนหมดแล้วแต่ลูกสาวก็ยังไม่เปิดใจยอมรับเธอ ทางฝ่ายคุณครูหนุ่มมัทสึซากิก็พอกัน แต่เขาเป็นฝ่ายถูกกระทำจากแม่แท้ๆ ของตัวเองที่มีอาการทางจิตเช่นกัน
เหตุการณ์มาเลวร้ายขึ้นเมื่อเด็กหญิงหายตัวไปอย่างลึกลับพร้อมกับการหายตัวไปของเด็กๆ ในละแวกนั้น จนมีข่าวลือว่าผีสาวปากฉีกเป็นตัวการในเรื่องนี้ แล้วคุณครูทั้งสองก็พบกับความจริงที่ว่าผีสาวปากฉีกนั้นมีตัวตนจริงๆ และยิ่งน่ากลัวขึ้นไปอีกเมื่อได้รู้ว่าผีสาวตนนั้นคือแม่ของคุณครูมัทสึซากินั่นเอง!
บทหนังอาศัยตัวละครผีสาวปากฉีกเป็นตัวเอกแต่กลับฉีกตำนานเก่าๆ ทิ้ง จากเดิมที่เธออาฆาตแค้นเพราะถูกสามีทำร้ายกลับกลายเป็นเธอเป็นฝ่ายทำร้ายลูกของตนเองเสียแทน และจบชีวิตอย่างน่าสงสาร (ด้วยสภาพที่ต้องปากฉีกด้วยความบังเอิญ) ซึ่งคนที่สังหารเธอก็ไม่ใช่ใคร ก็คือลูกชายของเธอ (ครูมัทสึซากะ) นั่นเอง การดำเนินเรื่องอาจมีช่องโหว่อยู่บ้าง อย่างเช่นว่าคุณครูยามาชิตะที่มีประวัติทำร้ายเด็ก แต่ทำไมถึงสามารถเป็นครูโรงเรียนประถมได้ หรือทำไมจู่ๆ ผีสาวปากฉีกถึงได้ลุกขึ้นมาทำร้ายคนอื่นทั้งที่ถูกฆ่าไปแล้วเป็นสิบๆ ปี แต่ด้วยภาพและลีลาการดำเนินเรื่องที่ชวนสยอง ทำให้เราพอจะลืมๆ เรื่องปลีกย่อยนั่นไปได้และหันมาสนใจกับความสยดสยองที่โผล่ขึ้นมาเป็นระยะ
มิกิ มิสึโนะ (Miki Mizuno) รับบทเป็นผีสาว
จากเดิมที่สวยใสกลายเป็นสวยสยองไปเลย
หนังเล่นกับประเด็นของการทารุณกรรมเด็ก ไม่ว่าประเทศไหนก็มีปัญหาแบบนี้ทั้งสิ้น อย่างที่ปรากฎในเรื่องนังผีนี่ก็ใช่ว่าจะไม่รักลูก แต่เพราะอาการป่วยเสียมากกว่าที่ทำให้เธอกลายเป็นปีศาจร้ายในสายตาลูกๆ เมื่อครั้งยังมีชีวิต เธอจัดเป็นคุณแม่ที่แสนดีและรักลูกมากทีเดียว แต่ด้วยอาการป่วยทางกายประกอบกับอาการทางประสาท ทำให้เธอกลายเป็นคนที่มีสองบุคลิก คือเป็นคุณแม่ที่แสนดีที่พร้อมจะแปลงร่างเป็นปีศาจทุบตีลูกได้ทุกเมื่อเช่นกัน ซึ่งอาการที่ว่านี้พบเห็นได้ในสังคมจริงๆ หนังทำเอาคนดูรู้สึกหดหู่ไม่น้อยกับชะตากรรมของเด็กหญิงที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรด้วย แต่โชคร้ายต้องตกเป็นเหยื่อของความวิปริตของนังผีบ้า และหนังยังสะท้อนความวิปริตนั้นให้เห็นว่าแท้จริงแล้วปีศาจอยู่ในตัวเราทุกคนเพียงแต่รอเวลาที่จะแสดงตัวตนของมันออกมา โดยนำเสนอให้เห็นว่าผีสาวปากฉีกสามารถไปโผล่ในร่างของใครก็ได้ทุกเมื่อ
หนังจบลงแบบโศกนาฏกรรม เด็กๆ ต้องเสียแม่ ครอบครัวต้องสูญเสียลูก ครูหนุ่มต้องจบชีวิตลง มันเป็นเรื่องเศร้าไม่ว่าเกิดกับใครหรือครอบครัวใดก็ตาม อาการป่วยประเภทนี้สามารถรักษาได้แต่บางครั้งกว่าที่จะรู้ตัวมันก็อาจจะสายไปเสียแล้ว
(หนังเรื่องนี้ออกฉายในปี ๒๐๐๗ มีให้เช่าตามร้านเช่าหนังบ้านเรา ส่วนที่ญี่ปุ่นออกภาคสองมาแล้ว)
ไม่ว่าเด็กรุ่นใหม่หรือเด็กรุ่นเก่า หรือไม่ว่าจะผ่านวัยเด็กมานานแค่ไหน เมื่อพูดถึง ก็อตซิลล่า ทุกคนต่างหนึ่งถึงหนังสัตว์ประหลาดของประเทศญี่ปุ่น ที่มีสัตว์ขนาดยักษ์ดูเหมือนไดโนเสาร์ผุดขึ้นมาจากท้องทะเล เข้ามากระทืบตึกรามบ้านช่องเล่นแก้เซ็ง แม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนานนับตั้งแต่เจ้าก็อตซิลล่าถือกำเนิดขึ้นมาจนบัดนี้ นับอายุได้ ๕๑ ปี ใกล้วัยเกษียณเต็มทน แต่เจ้าก็อตซิลล่าก็คงยังเป็นสัญลักษณ์ของการทำลายล้างอยู่เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
แม้เจ้าตัวจะชอบลุกขึ้นมาเหยียบบ้านเมืองเล่นเป็นอาจิณ แต่คนญี่ปุ่นกลับไม่ได้มองก็อตซิลล่าเป็นพวกปีศาจร้าย แต่กลับให้ความเอ็นดูราวกับมันเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของประเทศเลยทีเดียว
ก็อตซิลล่า : Godzilla เกิดจากไอเดียของ โทโมยูกิ ทานากะ โปรดิวเซอร์แห่ง โตโฮภาพยนตร์ (ภาพข้างๆ นี่แหละ) บริษัทผลิตภาพยนตร์ชื่อดังของญี่ปุ่น (เจ้าเดียวกับที่ทำยอดมนุษย์อุลตร้าแมนกับคุณสมโพธิ แสงเดือนฉาย) ที่คิดจะสร้างหนังเกี่ยวกับสัตว์ประหลาดขนาดมหึมาที่ออกมาสร้างความหายนะให้แก่เกาะญี่ปุ่น โดยใส่ที่มาไว้ว่าสัตว์ประหลาดที่ว่านี้เกิดจากการกลายพันธุ์หลังจากที่ได้รับละอองกัมมันตภาพรังสี พล็อตเรื่องคร่าวๆ ถูกวางไว้เสร็จสรรพแต่ทานากะก็ยังหาชื่อที่เหมาะกับเจ้าสัตว์ประหลาดตัวนี้ไม่ได้ซักที
อยู่มาวันหนึ่งเพื่อนๆ ของทานากะที่โตโฮก็คุยกันถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัทคนหนึ่งที่มีรูปร่างอ้วนตุ๊ต๊ะ จนใครต่อใครเก็บเอามาล้อเล่นกันอย่างสนุกสนานว่า Gojira คือการเล่นคำโดยเอาคำว่า Golira ที่หมายถึงลิงกอลิร่า มาผสมกับคำว่า Kujira ที่แปลว่าปลาวาฬ ซึ่งก็หมายถึงว่าเป็นลิงกอลิร่าที่ใหญ่เท่าปลาวาฬ พอทานากะได้ยินเรื่องนี้ก็ปิ๊งขึ้นมาทันทีแล้วก็เลยเอาชื่อนี้มาเป็นชื่อของสัตว์ประหลาดที่เขาคิดขึ้น
บทหนังในฉบับแรกๆ ของโกจิร่าก็ไม่มีอะไรซับซ้อนนัก คือกล่าวถึงสัตว์ประหลาดที่จู่ๆ ก็โผล่ขึ้นมาจากอ่าวโตเกียวแล้วก็ขึ้นฝั่งกระทืบๆ เหยียบๆ ทำลายตึกรามบ้านช่องจนสาแก่ใจ พอหายเซ็งมันก็กลับลงทะเลไปนอนต่อ แต่ก่อนหน้านั้นก็จะแทรกเรื่องราวการร่วมมือร่วมใจของมวลมนุษย์ที่จะต้องขับไล่เจ้าโกจิร่านี้กลับถิ่นที่อยู่ของมัน ก็เป็นโอกาสให้ใส่เนื้อหาเกี่ยวกับความรัก ความสามัคคี หรืออะไรต่อมิอะไรที่พอจะนึกออก พอในตอนต่อๆ มาก็เริ่มใส่เรื่องราวที่จริงจังมากขึ้นรวมถึงมีการเพิ่มตัวละครจำพวกสัตว์ประหลาดต่างๆ ออกมาต่อกรกับโกจิร่าอย่างสนุกสนาน
การที่ทานากะปูพื้นให้โกจิร่ากำเนิดขึ้นมาจากผลของกัมมันตภาพรังสีนั้นนับว่าส่งผลดีไม่น้อย เพราะนอกจากจะเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของนิวเคลียร์ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นประสบมากับตนเองเมื่อครั้งสงครามโลก และก็ไม่เพียงแต่ญี่ปุ่นเท่านั้น ทั้งโลกต่างก็พร้อมใจกันต่อต้านนิวเคลียร์ มันก็เหมือนกันเป็นการประสานใจกันของคนทั้งโลก อีกทั้งยังได้ผู้กำกับอย่าง อิจิโร ฮอนดะ ที่มีประสบการณ์โดยตรงกับสงครามโลกครั้งที่สอง จึงทำให้หนังโกจิร่าในยุคนั้นสะท้อนความหายนะของบ้านเมืองออกมาบนแผ่นฟิล์มได้อย่างน่าชม (ถ้าจะเปรียบเทียบ โกจิร่า ก็คือ อเมริกา ที่ทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มฮิโรชิม่าและนางาซากิจนราบ)
ในทีแรกทานากะคิดว่าจะใช้เทคนิคสต็อปโมชั่นมาใช้เหมือนกับที่ฮอลลิวู้ดใช้จนประสบความสำเร็จกับ King Kong แต่ว่าต้องใช้งบประมาณสูงมาก ทานากะเลยแก้ปัญหาง่ายๆ โดยใช้คนสวมชุดหุ่นยางเล่นเป็นโกจิร่ามันซะเลย ไอจิ สึบูรายะ และ อิจิโร ฮอนดะ ทีมงานผู้ออกแบบก็เลยออกแบบทำหุ่นจำลองออกมาให้ทานากะเลือกอยู่สิบกว่าแบบ จนมาลงตัวที่สัตว์ประหลาด รูปร่างคล้ายๆ ไดโนเสาร์ แต่ตัวอ้วนเทอะทะกว่า มีครีบสามแถวที่หลัง หางขนาดใหญ่ หน้าทู่ๆ ดูไม่ค่อยฉลาดเท่าไหร่ จะดูเป็นกิ้งก่าก็ไม่ใช่ จะเป็นเต่าก็ไม่เชิง เหมือนกับเอาสัตว์หลายๆ ชนิดมาผสมกันมากกว่า แต่ที่สุดแล้วโกจิร่าก็ถือกำเนิดขึ้นในแบบที่เราคุ้นเคยกันดีมาจนถึงเดี๋ยวนี้
โกจิร่าและผองเพื่อนกับทีมงานผู้สร้าง
จากซ้าย ซาดามาสะ อาริคาว่า, อิจิโร่ ฮอนดะ, ไอจิ สึบูรายะ
และ โทโมยูกิ ทานากะ ผู้ให้กำเนิดโกจิร่า
โกจิร่าฉบับเริ่มต้นนั้นสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี ๑๙๕๔ ท่ามกลางอุปสรรคมากมาย เริ่มจากตัวโกจิร่าเองที่แสนจะเทอะทะ โดยใช้วิธีหล่อยางจากแม่พิมพ์เป็นส่วนๆ เช่นแขน ขา หาง ลำตัว มาเอาสวมให้นักแสดง จากนั้นก็ยัดโฟมเข้าไปข้างในเพื่อให้ดูอ้วนไม่ลีบแบน เสริมความแข็งแรงด้วยโครงไม่ไผ่ เย็บติดรอยต่อต่างๆ ด้วยผ้า ตรงด้านหลังบริเวณครีบทำเป็นซิปเปิดปิดเพื่อให้นักแสดงออกมาได้ โกจิร่าในเวอร์ชั่นแรกจึงออกมาดูแข็งๆ ขยับเขยื้อนไม่คล่องแคล่วและยังไม่สามารถแสดงท่าทางและสีหน้าออกมาได้มากนัก แต่งานหนักจริงๆ อยู่ที่ตัวนักแสดงที่ต้องทนร้อนและอึดอัดอยู่ในชุดโกจิร่าที่หนักเกือบร้อยกิโล! สวมใส่แสดงครั้งนึงได้ไม่เกินสามนาที (ยังกะมนุษย์อุลตร้า) ก็ต้องถอดออดมาพัก แม้ว่าตัวชุดจะมีช่องระบายอากาศแต่ก็ไม่เพียงพอ ทีมงานจึงใช้วิธีถ่ายแบบสโลว์โมชั่น (มันจะได้ยืดกินเวลานานๆ) เพื่อจะได้ลดความไม่สมจริงของโกจิร่า จนสุดท้ายโกจิร่าก็ออกฉายจนได้ โดยสิ้นงบประมาณไป ๖๐ ล้านเยน ซึ่งถือว่ามหาศาลมากในยุคนั้น
โกจิร่ากลายเป็นของแปลกใหม่สำหรับคอหนังชาวญี่ปุ่น มันได้รับการต้อนรับอย่างดีทั้งจากเด็กๆ และผู้ใหญ่ จนมีการสร้างภาคต่ออกมามากมาย และด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น โกจิร่าก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยก็คือพวกเขายังคงใช้คนแสดงโดยสวมชุดยางอยู่เช่นเดิม
ใบปิดหนังโกจิร่าฉบับแรก ออกฉายปี ๑๙๕๕
ต้องต่อสู้กับตัวประหลาดๆ มากมาย อย่างในภาพเป็นการต่อสู้แบบสามรุมหนึ่ง
ในภาคต่อๆ มาของโกจิร่า ผู้สร้างได้เพิ่มมิติให้กับเจ้าสัตว์ประหลาดตัวนี้มากขึ้น ไม่ใช่สักแต่ขึ้นมาถล่มเมืองเล่นเฉยๆ พวกเขาเพิ่มมุมมองในด้านของความอ่อนโยนของโกจิร่า อย่างเช่นมีบางตอนที่มีโกจิร่าน้อยโผล่ขึ้นมา หรือสัญชาตญาณในการปกป้องถิ่นฐาน (ก็คงไม่พ้นการสอนให้คนญี่ปุ่นรักชาติและบูชาลัทธิบูชิโดนั่นแหละ) อย่างบางตอนที่มีสัตว์ประหลาดหน้าตาแปลกๆ โผล่ออกมาต่อกรกับโกจิร่า ซึ่งคราวนี้ศัตรูของมนุษย์ไม่ใช่โกจิร่าเสียแล้ว แต่เป็นสัตว์ร้ายรับเชิญที่ออกมาอาละวาด ไม่ว่าจะเป็น กาเมร่า (เต่ายักษ์) คิงงิโดร่า (มังกรสามหัว) หนอนยักษ์ มอธยักษ์ และตัวอะไรอีกมากมาย กลายเป็นว่าเจ้าโกจิร่าต้องออกมาปกป้องถิ่นฐานคือเกาะญี่ปุ่น ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ทั้งของมันเองและมนุษย์ไปพร้อมๆ กัน (ประมาณว่าใครจะมาแย่งตูถล่มตึกไม่ได้เฟ้ย) เราจึงได้เห็นมนุษย์คอยเอาใจช่วยโกจิร่า ทั้งที่ตอนก่อนๆ เพิ่งสาบส่งมันอยู่แท้ๆ หรือบางตอนถึงกับเรียกหาโกจิร่าเลยด้วยซ้ำ
โกจิร่าถูกสร้างขึ้นมาหลายสิบตอนและกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่น มันถูกแปรรูปกลายเป็นสินค้าต่างๆ มากมาย บรรดาผู้นิยมมอนสเตอร์ทั้งหลายต่างต้องการมีสะสมไว้ในคอลเล็คชั่น จนถึงกับยกให้มันเป็น King of Monster เลยทีเดียว นอกจากจะเป็นโกจิร่าในรูปแบบที่เห็นกันในหนังแล้วก็ยังมีในรูปแบบน่ารักๆ ออกมาล่อตาล่อใจบรรดาวัยรุ่นได้เสียอีก
กว่าครึ่งศตวรรษที่โกจิร่าได้ออกมาไล่ถล่มเกาะญี่ปุ่นเล่นมันก็ข้ามไปถึงฝั่งอเมริกา ในปี ๑๙๙๘ โกจิร่าหรือก็อตซิลล่าในฉบับฮอลลิวู้ดมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างหน้าตาไปจนจำแทบไม่ได้ จากที่เป็นตัวอ้วนๆ อุ้ยอ้าย (แม้จะท่าทางดุร้ายแต่หน้าตากลับดูน่าเอ็นดู) ก็เปลี่ยนเป็นก็อตซิลล่าที่ตัวใหญ่กว่าเดิม ผอมเพรียวคล่องแคล่วกว่าเดิม ท่าทางที่ดุร้ายมากขึ้น และดูยังไงๆ ก็เหมือนเอาทีเร็กซ์มาผสมกับแร็พเตอร์ ในฉบับฮอลลิวู้ดเจ้าก็อตซิลล่ายังคงถือกำเนิดจากผลของกัมมันตภาพรังสีจากการทดลองนิวเคลียร์ของฝรั่งเศส (ตรงกับเหตุการณ์ในตอนนั้นพอดี) แล้วเธอก็บุกขึ้นเกาะแมนฮัตตันเพื่อหาที่วางไข่ (เจ้าตัวนี้เป็นตัวเมีย) ซึ่งไม่มีการใส่ชุดยางเหมือนของญี่ปุ่น แต่ใช้เทคนิคคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งเรื่อง จึงดูเนียนตาและสมจริงอย่างมากและก็สร้างเอฟเฟคต์ระเบิดตูมตามทำลายล้างได้อย่างถึงใจพระเดชพระคุณ
โกจิร่ายุคใหม่ นำเอาคอมพิวเตอร์มาใช้ประกอบทำให้ดูเนียนตาขึ้นกว่าเดิมเยอะ
(ที่เห็นในภาพเป็นฉากหนึ่งหนังเรื่อง Always ที่ไม่เกี่ยวกะก็อตซิลล่าเลย)
เข้าสู่ยุค ๒๐๐๐ ทีมผู้สร้างจากญี่ปุ่นเริ่มหันมาใช้เทคนิคคอมพิวเตอร์มากขึ้น ทำให้เกิดภาพที่สวยงามและดูเนียนมากกว่าสมัยที่ใส่ชุดยาง แม้ว่าจะมีหนังสัตว์ประหลาดสร้างขึ้นมามากมาย แต่ไม่ว่าจะอย่างไร โกจิร่า หรือ ก็อตซิลล่า ก็ยังคงเป็นขวัญใจของชาวญี่ปุ่น หรืออาจจะรวมถึงคอหนังทั้งโลกและจะยังคงครองตำแหน่งนี้ต่อไปอีกนานแสนนาน
เบื้องหลังกว่าจะมาเป็น ก็อตซิลล่า
ด้านบนคือ ก็อตซิลล่า เวอร์ชั่นฮอลลิวู้ดในปี ๑๙๙๘
ถัดมาคือเวอร์ชั่นญี่ปุ่นในปี ๒๐๐๐