ละคร “เพลิงพระนาง” ที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่นั้น เชื่อว่าคอละครบ้านเราคงไม่สนใจหรอก เพราะกำลังอิน แม้จะเป็นการรีเมคแต่ก็มีเสียงติงจากประเทศเพื่อนบ้านว่าเอาเรื่องของบ้านเขามายำเสียจนเละ ด้านผู้จัดก็ยืนยันเสียงแข็งว่าบทละครนี่มันเป็นจินตนาการนะ ไม่เกี่ยวกับใคร พุทโธ่ คนในประเทศนี้ไม่ได้ไร้การศึกษากันเสียหมดนะขอรับ บอกว่านำประวัติศาสตร์มาดัดแปลงยังฟังดูเข้าท่ากว่าอีก
เชื่อว่าคนไทยส่วนหนึ่งยังเรียนประวัติศาสตร์จากภาพยนตร์หรือละคร ไม่ต่างจากสมัยเก่าก่อนที่จำประวัติศาสตร์จากตำนานหรือคำบอกเล่า จำภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อย่าง สุริโยไท หรือ ตำนานสมเด็จพระนเรศวร กันได้ไหม ถามว่ารู้จัก สมเด็จพระมหาธรรมราชา ไหม โอ้ย ชื่อยาวๆ ยากๆ จำไม่ได้ดอก แต่พอบอกว่า ฉัตรชัย เล่นน่ะ อ๋อ บอกเสียแต่แรกก็หมดเรื่อง เป็นงั้นไป
อันนี้เป็นแบนเนอร์ของทางช่อง 7 ซึ่งมีระบุไว้ว่า
ดัดแปลงเนื้อเรื่องบางส่วนจากหนังสือ เที่ยวเมืองพม่า ของ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ
แต่ไหงผู้จัดเพิ่งแถลงเมื่อไม่นานนี้ว่าจินตนาการล้วนๆ …งงจริงๆ
สังคมไทยไม่ใช่สังคมแห่งการอ่านมาตั้งแต่ต้น คนไทยยุคก่อนๆ อ่านหนังสือออกกันเท่าไหร่เชียว การศึกษาไม่ได้ทั่วถึงเหมือนสมัยนี้ หนังสือเล่มหนึ่งราคามากโข ส่วนใหญ่ก็เป็นของเจ้านายหรือคนมั่งมี ชาวบ้านถ้าจะเรียนหนังสือก็ต้องบวชเป็นพระ เป็นพระก็เรียนทางธรรม เรื่องทางโลกไม่ได้ข้องแวะ Content ต่างๆ ล้วนกระจายแบบปากต่อปาก หรือผ่านการบอกเล่าเป็นนิทาน ตำนาน หรือไม่ก็เป็นความบันเทิงรูปแบบต่างๆ ที่จะสอดแทรกเนื้อหาลงไปได้ ขนาดจะโปรโมทความงามของพระเพื่อนพระแพง ยังต้องจ้างคนมาขับลำนำชมพระโฉมเลย จำได้ไหมครับ
กลับมาในยุคสมัยนี้ก็ไม่ต่างกันนัก ยิ่งเรามีสื่ออออนไลน์เข้ามาแย่งชิงความสนใจ ทำให้หนังสือซึ่งเป็นแหล่งความรู้ที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด (ในระดับหนึง) ถูกลดความสำคัญลงไป คนไทยไม่ชอบอ่านอะไรยาวๆ (อย่างเช่นข้อเขียนนี้ ถ้าท่านอ่านมาถึงตรงนี้ก็นับว่าเก่งแล้ว) ยิ่งชอบเสพข้อมูลจากสื่อออนไลน์ก็ยิ่งไปกันใหญ่ ไม่มีการตรวจสอบที่มาที่ไป เขาบอก เขาเล่าว่า ก็พาลกันเชื่อ พาลกันแชร์ต่อกันไม่ดูหน้าดูหลัง
ละคร เพลิงพระนาง ที่ว่ามาตอนต้นนั้น หากมองในมุมดีก็อาจจะช่วยกระตุ้นให้คนที่รักการอ่านอยู่แล้ว ลองไปศึกษาประวัติศาสตร์จริงๆ หรือคนที่ไม่ชอบอ่านอะไรหนักๆ อาจจะเปลี่ยนใจลองอ่านดูเพื่อให้ได้ความกระจ่างมากยิ่งขึ้น ก็น่าจะดีกว่าดูเอามันอย่างเดียว ผมมั่นใจว่าประเดี๋ยวเขาก็จะสอดแทรกคติธรรมหรือสั่งสอนอะไรบางอย่างในตอนท้าย ซึ่งผมเชื่อว่ามันมีแน่ๆ เหมือนละครดังที่เป็นกระแสแรงๆ เมื่อหลายปีก่อน ที่ตอนอวสานก็นิมนต์พระอาจารย์รูปหนึ่งมาเทศน์สอนเสียเลย แก้ปัญหาได้ง่ายดีแท้
แต่ก็ต้องดักทางไว้อีกเหมือนกันว่าหากจะหาหนังสืออ่านเพิ่มเติม ก็ต้องพิจารณาคัดกรองดีๆ ต้องไม่เชื่อทั้งหมด ต้องหัดพิเคราะห์พิจารณากันเสียด้วย อ่านเจอในเว็บบอร์ดชื่อดังที่วิจารณ์กันถึงละครเรื่องนี้ ก็พาดพิงไปถึงหนังสือเล่มดังของ อาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ว่าด้วยวาระสุดท้ายของประเทศเพื่อนบ้านของเรา ไม่น่าเชื่อว่ายังมีหลายท่านมากๆ ที่ยึดเอาหนังสือของอาจารย์หม่อมเล่มนี้เป็นตำราประวัติศาสตร์แบบจริงจัง ทั้งที่อ่านแล้วก็รู้สึกได้เลยว่าอาจารย์หม่อมท่านแทรกประเด็นชาตินิยมเอาไว้มากทีเดียว ผมไม่ได้ว่าหนังสืออาจารย์หม่อมนั้นไม่ดีนะครับ แต่อยากให้อ่านแล้วคิดก่อนเชื่อ ซึ่งผมก็เชื่อว่าหากอ่านแล้วคิดตาม ค้นคว้าเพิ่มเติม นั่นน่าจะสมเจตนารมณ์ของอาจารย์หม่อมท่านมากกว่า
สรุปปิดท้ายแนะนำให้หาหนังสือสามเล่มนี้มาอ่านนะครับ เพื่อให้เข้าใจเรื่องราวจากละครที่เขาดัดแปลงมาให้ดูกัน คือ “พม่าเสียเมือง” ของท่านคึกฤทธิ์ “ราชินีศุภยาลัต: จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน” และ “ราชันผู้พลัดแผ่นดิน” เล่มแรกอ่านสนุกมาก แต่ย้ำว่าอ่านแล้วต้องพิจารณาให้จงหนัก เล่มสองเป็นบันทึกของฝรั่งในยุคนั้น ซึ่งก็ต้องพิาจารณาอีกเช่นกัน โดยเฉพาะเนื้อหาที่เขียนโดยบุคคลที่สาม ส่วนเล่มสุดท้ายนั้นดูจะน่าเชื่อถือที่สุดเพราะเป็นงานวิจัยที่มีแหล่งอ้างอิงชัดเจน ว่าด้วยประวัติศาสตร์ช่วงท้ายของราชวงศ์คองบองไปจนถึงวาระสุดท้ายของกษัตริย์พระองค์สุดท้าย
ย้ำว่าอ่านแล้วจงพิเคราะห์ให้จงหนัก ดูละครก็สนุกดี แต่ต้องไม่ลืมว่าเขาต้องแทรกความบันเทิง อย่าเรียนประวัติศาสตร์จากละคร แต่ใช้เป็นแรงบันดาลใจเพื่อศึกษาต่อจะดีที่สุดครับ
ข้อเขียนนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ถ้าไปกระทบใครด้วยความไม่ตั้งใจ ก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้