(บทความชุดนี้มีการเพิ่มเติมความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนในบางประเด็น จึงโปรดพิจารณาก่อนหากท่านใดจะนำไปอ้างอิง)
เรื่องราวของสงครามครูเสด เป็นอีกหนึ่งตำนานที่เล่าต่อกันมาเป็นร้อยๆ ปี จนบางครั้งถูกดัดแปลงจนกลายเป็นนิทานก่อนนอน ถูกแต่งเติมสีสันให้น่าอัศจรรย์ มีวีรบุรุษ นักรบผู้เก่งกาจมากมายทั้งที่มีตัวตนจริงและที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมา สงครามครั้งนี้กินเวลาหลายร้อยปีโดยมีเรื่องของศาสนาเป็นฉากหน้าซึ่งหากจะมองกันให้ลึกลงไปแล้วมันก็แค่ข้ออ้างในการก่อสงครามเท่านั้นเอง
คำว่าครูเสด “Crusades” แผลงมาจากคำว่า “Cross” หรือไม้กางเขน สัญลักษณ์ของชาวคริสต์ ต้นเหตุของการก่อสงครามนั้นถูกเล่าขานต่างกันออกไป แต่โดยหลักใหญ่ใจความนั้นถูกอ้างว่าเพราะชาวคริสต์ต้องการแย่งชิงดินแดนศักดิ์สิทธิ์คืนจากการครอบครองของชาวอิสลาม โดยอ้างว่าถูกชาวอิสลามกระทำการย่ำยีและไม่ให้เกียรติแก่ชาวคริสต์ที่ไปแสวงบุญ ณ นครเยรูซาเล็ม นี่คือข้ออ้างที่ฝ่ายคริสต์เห็นว่าชอบธรรมแล้วในการประกาศสงคราม ทางฝ่ายอิสลามก็ใช้เหตุผลของการเป็นผู้ถูกรุกรานทำสงครามตอบโต้
หากมองย้อนกลับไปในโลกเมื่อกว่าพันปีที่แล้ว โลกที่ยังไม่มีทัศนคติเชิงบวกกับใครก็ตามที่ไม่เหมือนกับเรา ใครก็ตามที่สีผิวไม่เหมือนเรา เชื่อในศาสนาที่ไม่เหมือนเรา คิดในสิ่งที่ไม่เหมือนเรา แม้ว่าทุกวันนี้การไม่ยอมรับตัวตนของอีกฝ่ายยังคงมีอยู่บ้างแต่ก็น้อยเต็มทีและอาจไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมโดยรวม เพราะโลกเปลี่ยนไป เราสามารถยอมรับความต่างได้ง่ายขึ้น อาจเป็นเพราะเราไม่สามารถอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว เราไม่อาจใช้วิธีการแย่งชิงเอาด้วยกำลังในสิ่งที่เราขาดได้ดังก่อน เรามีชีวิตอยู่ได้ด้วยระบบทุนนิยม ธุรกิจและการเมืองเข้ามามีบทบาทมากกว่าการทหาร แต่หากเรามองย้อนไปในอดีต ความแตกต่างระหว่างบุคคลนับเป็นเรื่องใหญ่ และหากเป็นความแตกต่างในระดับมหภาคด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นเรื่องใหญ่มากกว่าหลายเท่า
แผ่นดินยุโรปเกือบทั้งหมดในยุคศตวรรษที่ ๑๑ ถูกครอบครองโดยศาสนาคริสต์ ความเชื่ออย่างสุดโต่งต่อพระเจ้าเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่เบื้องหลังนั้นมีเรื่องของการเมือง อำนาจ และความมั่งคั่งแอบแฝงอยู่ การปกครองภายใต้ความเชื่อเดียว ลัทธิเดียว ดูจะเป็นการง่ายมากกว่าการปล่อยให้ประชาชนมีความคิดแบบเสรีนิยม อีกทั้งการศึกษาในยุคนั้นไม่ได้พัฒนาไปสักเท่าใด วิทยาศาสตร์กลับกลายเรื่องงมงาย เป็นเล่ห์กลของซาตาน การยอมรับในพระคริสต์คือสัจธรรมอันเที่ยงแท้ ดังนั้นการที่จะมีใครบังอาจคิดเป็นอย่างอื่น หรือไม่แสดงความเคารพในพระคริสต์ คนเหล่านั้นจึงถูกตราหน้าว่าเป็นพวกนอกศาสนา ในความคิดของชาวยุโรปขณะนั้นอาจมองว่าทั้งโลกมีเพียงศาสนาเดียวที่ควรดำรงอยู่คือศาสนาคริสต์
ในขณะที่ดินแดนที่ไม่ได้ไกลจากยุโรปนักอย่างดินแดนอาหรับกลับมีความเชื่อในอีกรูปแบบหนึ่ง ถ้าจะอนุมานจากลักษณะทางภูมิศาสตร์แล้ว อาหรับน่าจะหมายถึงดินแดนฝั่งตะวันออกของแอฟริกาเหนือ หรืออาจจะนับตั้งแต่แม่น้ำไทรกรีสและยูเฟรตีสมาทางฝั่งตะวันออกเลยก็ย่อมได้ ดินแดนที่ผู้คนแถบนี้เชื่อว่าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าของพวกเขาประทานให้คือ เยรูซาเล็ม ซึ่งบังเอิญเป็นดินแดนที่ชาวคริสต์ก็เห็นว่าศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน หากจะนับลำดับเครือญาติแล้วก็จะพบว่า ทั้งคริสต์และอิสลามต่างก็ถือกำเนิดมาจากแหล่งกำเนิดเดียวกัน และผู้คนทั้งสองเผ่าพันธุ์ต่างสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษเดียวกันด้วยซ้ำ ทั้งสองฝ่ายนับถือศาสนาที่ต่างกัน พระเจ้าคนละองค์ มีรูปแบบการปฏิบัติที่ต่างกัน ซึ่งความต่างนี้เองถูกหยิบยกมาเป็นข้ออ้างในการประหัตประหารอีกฝ่ายอย่างน่ารังเกียจที่สุด
นี่แค่จุดเริ่มต้น ไว้ต่อตอนหน้าครับ
Pingback: อิสราเอล-ปาเลสไตน์ (ตอนแรก) «
Pingback: อิสราเอล-ปาเลสไตน์ (ตอนแรก) «