เปิดฟังเพลงเพื่อชีวิตเก่าๆ “บ้านนาสะเทือน” ของ “คาราวาน” ด้วยความบังเอิญ ก็ให้นึกแปลกใจว่าทำไมเนื้อหามันยังคงร่วมสมัย แม้ว่าเพลงนี้จะกำเนิดขึ้นเมื่อราวปี ๒๕๒๓ ในยุคที่บ้านเราค่อนข้างจะสงบสุขพอสมควร มาถึงยุค ๒๕๕๔ ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องราวในบทเพลงที่สะท้อนความเป็นไปในสังคมมันยังคงเดิม หรือว่าสังคมบ้านเรามันหยุดนิ่งไม่เปลี่ยนแปลงกันนะ
เพลง “บ้านนาสะเทือน” สุรชัย จันทิมาธร แต่งขึ้นให้แม่ผู้จากไป ตอนนั้นเขายังอยู่ในป่าหลังเหตุการณ์เดือนตุลา เขาได้จดหมายจากเพื่อนส่งข่าวว่าแม่เสียชีวิตแล้ว จดหมายเดินทางมาถึงเขาหลังแม่จากไปหนึ่งปี (ก็อยู่ในป่านี่นะ) สุรชัย จึงเขียนเพลงนี้ขึ้นเพื่อเป็นการไว้อาลัยให้กับแม่และสอดแทรกเนื้อหาวิพากษ์สังคมเข้าไปด้วย
“…สังคมเน่าใน สุดแก้ไขข้องเกี่ยวเยียวยา…” ในยุคที่บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าทางวัตถุแต่กลับแตกสลายทางวัฒนธรรม เน่าในที่ว่านี้มันก็เน่ากันทุกส่วนตั้งแต่ส่วนที่เล็กที่สุดของสังคมอย่าง “ครอบครัว” หน้าฉากที่แสนจะดูดีแต่ข้างในช่างเฟะฟอน นักการเมืองที่วันๆ เอาแต่หาประโยชน์ใส่ตัว โกหกตอแหลกันหน้าด้านๆ ทำตัวเหี้ยอย่างเสมอต้นเสมอปลาย แต่ก็อีกนั่นแหละ ก็ประชาชนเสือกเลือกเขามาเองนี่นา จะโทษใครได้ “…ประชาต้องร้องไห้…”
ตอนที่ไม่ได้ดั่งใจก็ด่าเอาๆ แต่พอเลือกตั้งอีกทีก็ยังเสือกไม่จำ ยังเลือกแม่งเข้ามาอีก แล้วก็อ้างอุดมการณ์ห่าเหวอะไรที่ตัวเองยังไม่รู้เรื่องด้วยซ้ำ
หากเปลี่ยนเนื้อร้องเป็น “พ.ศ. ๒๕๕๔” เพลงนี้ก็ยังคงสะท้อนความจริงของบ้านเราได้อย่างซื่อตรง ในยุคที่คนในสังคมแบ่งพรรคแบ่งฝ่าย จะคุยกันทีต้องดูให้ดีก่อนว่า “สีอะไร?” ร่ำร้องอยากจะศิวิไลซ์ทางการเมือง เสรีทางความคิด แต่เสือกเห็นทุกคนที่คิดต่างเป็นศัตรู ปัญญายังต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ไม่เคยคิดอะไรไปไกลกว่าเรื่องของตัวเอง งมงายและยึดติด … ผู้ใหญ่ลีจึง “หมดแรงแม้จะกล่าว”
ผมชอบท่อนที่ว่า “ทิ้งคานกระบุง เปลี่ยนผ้าถุงนุ่งกางเกงยีนส์ ผู้ชายขายแรงเพื่ออยู่ ผู้หญิงขายตัวเพื่อกิน” มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เราอยากเป็นนิก อยากเป็นเสือตัวที่ห้า สุดท้ายเราก็เป็นได้แค่แมวเชื่องๆ ตัวนึง แม้ในตอนนี้เราก็ยังดิ้นรนและพยายามจะเปลี่ยนตัวเองให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม ในความเห็นของผม คนในเจนเนอเรชั่นหลังปี ๒๕๓๐ คงแทบไม่มีใครอยากยึดอาชีพเกษตรกรกันแล้ว อีกไม่นานพื้นที่ทำการเกษตรบ้านเราก็จะค่อยๆ หายไป สุดท้ายอาจถึงวันที่เราต้องซื้อข้าวเขากินก็ได้
บางทีการจากไปของแม่ “รถไฟประหาร แม่แหลกราญระหว่างทางไป” สุรชัย อาจจะส่งสารอะไรบางอย่างถึงเราก็ได้ เพราะ “แม่ผู้อยู่แต่ริมทุ่งมานาน” ต้องจบชีวิตด้วย รถไฟ หรือสัญลักษณ์ของสังคมอุตสาหกรรม ขณะที่นางกำลังเดินทางซึ่งก็ไม่รู้ว่าปลายทางอยู่ที่ไหน สังคมบ้านเราก็กำลังจะเป็นแบบนั้น ขณะที่เรากำลังหลงทาง จ่อมจมอยู่กับค่านิยมเลวๆ เราไม่ได้รู้สึกตัวเลยว่า รถไฟ มันบี้ไล่หลังมาจนเกือบจะถึงตัวอยู่แล้ว
ลองอ่านเรื่องราวของ สุรชัย ใน “พระเจ้าหัวฟู…สุรชัย จันทิมาธร“
บ้ า น น า ส ะ เ ทื อ น
คำร้อง-ทำนอง : สุรชัย จันทิมาธร
รถไฟประหาร แม่แหลกราญระหว่างทางไป
โอ้คืนนั้นดาวเดือนหม่น ทุ่งนาก็ก่นร่ำไห้ ป่าไพรร้องระงม
บ้านาสะเทือนแรงลม จ่อมจมอาลัยแม่
จดหมายของเพื่อนบอกข่าว เรื่องราวได้เปลี่ยนแปรไป
สังคมเน่าใน สุดแก้ไขข้องเกี่ยวเยียวยา
เมื่องบ้านเราทรามเสื่อม คิดไปน่าเอือมระอา
ประชาต้องร้องไห้ ไม่มีน้ำตาจะไหล มันตกในหัวอก
พ.ศ.สองห้าสองสี่ ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม
ร้อนลมอ้าวรุม ดังไฟสุมทั่วถิ่นดินแล้ง
บ้านเรา ผู้เฒ่าผู้แก่ แต่ละคนแต่ละคนหน้าแห้ง
ข้าวแพง ของแพง ผู้ใหญ่ลีไม่มีคำแย้ง หมดแรงแม้จะกล่าว
ข่าวคราวสังคมชาวบ้าน หนีไปทำงานเมืองกรุง
ทิ้งคานกระบุง เปลี่ยนผ้าถุงนุ่งกางเกงยีนส์
ผู้ชายขายแรงเพื่ออยู่ ผู้หญิงขายตัวเพื่อกิน
ได้ยินแล้วเศร้า ส่วนยายตาฟางกับหลานสาว ตากหน้าขอทาน
สุดท้ายคือเรื่องราวของแม่ ผู้อยู่แต่ริมทุ่งมานาน
รถไฟประหาร แม่แหลกราญระหว่างทางไป
โอ้คืนนั้นดาวเดือนหม่น ทุ่งนาก็ก่นร่ำไห้ ป่าไพรร้องระงม
บ้านาสะเทือนแรงลม จ่อมจมอาลัยแม่