ออกเดินทางไปชมบ้านชมเมืองหลังจากจำศีลมานมนาน คราวนี้ถึงคิวของ พระที่นั่งวิมานเมฆ ผ่านไปผ่านมาหลายเที่ยวไม่เคยย่างกรายเข้าไปชม จนถูกกัดว่าเชยบรม ก็เลยเอาซะหน่อย
พระที่นั่งวิมานเมฆ ตั้งอยู่ภายในบริเวณของ สวนดุสิต ซึ่งแต่เดิมเป็นพระราชอุทยานใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โดยพระองค์ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินบริเวณนี้ไว้ พระที่นั่งองค์นี้เดิมคือ พระที่นั่งธาตุรัตนโรจน์ ที่เกาะสีชัง ซึ่งตอนโน้นยังสร้างไม่เสร็จดี ก็โปรดฯ ให้รื้อย้ายมาปลูกสร้างใหม่ ณ ที่ปัจจุบัน มี สมเด็จพระเจ้าบรมวงค์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงเป็นนายช่างใหญ่ดูแลกำกับการออกแบบและสร้าง เมื่อสร้างเสร็จได้เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับที่นี่นานถึง ๕ ปี จนกระทั่งพระที่นั่งอัมพรสถานสร้างเสร็จสมบูรณ์ จึงได้แปรพระราชฐานไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจีพระวรราชชายา เสด็จมาประทับ และนั่นคือเจ้านายพระองค์สุดท้ายที่ประทับ ณ พระที่นั่งแห่งนี้ จากนั้นมาพระที่นั่งแห่งนี้ก็ทรุดโทรมลงตามกาลเวลา มีการบูรณะในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และครั้งต่อมาในปี ๒๕๒๕ เมื่อครั้งสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี
ทั่วไปแล้วเรามักจะเข้าใจว่าที่เรียกๆ กันว่า พระที่นั่งวิมานเมฆ ก็คงมีพระที่นั่งเดียว แต่อันที่จริงพระที่นั่งวิมานเมฆนั้นเป็นพระเอก แต่ภายในบริเวณสวนดุสิตยังมีพระตำหนักอีกหลายหลัง ซึ่งแต่ละหลังก็มีความสวยงามและมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ เดี๋ยวนี้เขาจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับเปิดแสดงให้ใครๆ เข้าไปชมได้ พระตำหนักแต่ละหลังก็จะจัดแสดงในเรื่องต่างๆ กันไป
พระตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา เป็นจุดแรกที่เข้าชม อยู่ใกล้ๆ กับจุดจำหน้ายบัตรเข้าชม ภายในจัดแสดงผ้าโบราณประเภทต่างๆ ที่ใช้กันจริงๆ ในราชสำนัก นอกจากนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าจากศูนย์ศิลปาชีพมาจัดแสดงด้วย แต่ละผืนนั้นยอดๆ ทั้งสิ้น ดูแล้วอึ้งในความสามารถของช่างไทย
พระตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ หลังนี้อยู่ถัดจากหลังแรกมาหน่อย ภายในจัดแสดงนาฬิกาโบราณ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงซื้อมาจากต่างประเทศ แต่ละเรือนล้วนมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป แต่แน่นอนว่าล้วนสวยงามทุกเรือน แถมยังใช้งานได้จริงด้วย หลายท่านอาจจะพอเคยเห็นบ้างนาฬิกาหลังโตๆ ที่มีตุ้มหนักๆ ถ่วงอยู่ เดี๋ยวนี้หาดูยากแล้ว เพราะดูแลรักษายากเสียหน่อย บางท่านก็นิยมเล่นที่เรือนนาฬิกา เพราะเรือนไม้นั้นประดิดประดอยแกะสลักสวยๆ กันทั้งนั้น ร้านนาฬิกาใหญ่ๆ แถวเยาวราชเห็นยังมีขายอยู่ แต่ทำออกมา ดูไม่งาม (เน้นหรูอย่างเดียว) นอกจากนี้ยังมีนาฬิกาตั้งโต๊ะรูปร่างแปลกตาอีกหลายเรือน อีตอนเดินออกมา นาฬิกาเรือนโตตรงระตูทางเข้าก็ดังขึ้น ทำเอาผู้ชมหลายท่านตกอกตกใจกันเป็นแถบ … แสดงว่ายังใช้ได้จริงๆ
ยังไม่ทันชมตำหนักอื่นก็ต้องรีบเข้าชมพระเอกของงาน คือ พระที่นั่งวิมานเมฆ พระที่นั่งหลังนี้เขาไม่เปิดให้เข้าไปชมได้ตามสบาย แต่ต้องเข้าชมเป็นกลุ่มๆ มีมัคคุเทศก์คอยนำชม มีทั้งแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทีแรกก็งงๆ ว่าทำไมต้องมีคนนำด้วย ไม่สะดวกเลย แต่พอเข้ามาชมก็เข้าใจ เพราะพระที่นั่งนี้ใหญ่โตจริงๆ มีถึงสามชั้น แค่โถงหน้าชั้นแรกก็ตกตะลึงในความวิจิตรแล้ว อีกทั้งยังมีการจัดแสดงของใช้ทั้งส่วนพระองค์ ของตกแต่ง หรือของที่ระลึกต่างๆ ไว้ตามจุดต่างๆ บางห้องก็ห้ามมิให้เข้า ซึ่งตรงนี้แหละที่ขืนปล่อยให้ชมกันตามอัธยาศัย มีหวังได้ยินเสียงเพล้ง ๆ ๆ แน่ๆ อีกทั้งวิสัยคนไทยที่ยังไม่ค่อยมีวินัยในการชมโบราณสถานหรือพิพิธภัณฑ์กันเสียเท่าไหร่ อะไรที่เขาห้ามก็ทำทั้งสิ้น เขาห้ามจับก็อดไม่ได้ที่จะแอบลูบคลำ และคงไม่เป็นระเบียบแน่ๆ หากปล่อยจนเละเทะขนาดนั้น ในขณะที่นักท่องเที่ยวต่างๆ ชาติ เขาดูอะไรแบบนี้เป็น รู้ว่าอะไร คืออะไร คือดูอย่างมีวินัย
ประสบการณ์หนึ่งที่ประสบมาครั้งหนึ่งได้ไปเยี่ยมชม พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ที่จังหวัดเพชรบุรี ที่นี่เขาปล่อยให้เดินชมกันอย่างอิสระ แล้วก็ประสาคนไทย ก็เดินกันให้ขวักไขว่ ดูไม่เป็นระเบียบ พาเด็กเล็กมาก็ไม่ใคร่จะดูแล ปล่อยให้วิ่งซนส่งเสียงตึงตัง ไม่คำนึงเสียเลยว่าเป็นสถานที่ใด แถมบางคนก็แอบลูบๆ คลำๆ ของจัดแสดงต่างๆ เป็นรอยมือเปรอะเชียว … นิสัยแย่ และอีกครั้งหนึ่งที่เห็นคนไทยด้วยกันนี่แหละ พยายามแคะดูสีที่จิตรกรรมฝาผนัง เขาคงสงสัยว่าของจริงหรือเปล่า แต่มันสมควรหรือไม่ … ตรองดูเอาเถิด
ชมพระที่นั่งวิมานเมฆจนครบถ้วนก็กินเวลาไปเกือบชั่วโมง แต่คุ้มค่าจริงๆ ใครที่สนใจศิลปะเก่าๆ ของโบร่ำโบราณ ต้องทึ่งแน่ๆ
ถัดมาเป็น ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน ภายในจัดแสดงภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม้จะเป็นภาพที่จำลองมา แต่ก็คมชัดและให้ความรู้สึกอิ่มเอมเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะภาพที่พระองค์ถ่ายสภาพบ้านเมืองและทุกข์ภัยของพสกนิกร เป็นการแสดงว่าพระองค์ ทรงห่วงใยพวกเราทุกคนแค่ไหน อีกทั้งภาพถ่ายสมเด็จพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นๆ ล้วนแต่แสดงความเป็นอัจฉริยะด้านการถ่ายภาพจริงๆ
จำไม่ได้ว่าเคยอ่านเจอที่ไหน … พระองค์พระราชทานสัมภาษณ์ถึงเรื่องการถ่ายภาพไว้ว่า เห็นบางคนปรับโน่นปรับนี่อยู่นั่นล่ะ กว่าจะกดชัตเตอร์ได้ บางครั้งมันไม่จำเป็นเลย ของให้ตั้งใจที่จะถ่ายไปเท่านั้นก็ใช้ได้ คือพระองค์คงจะสอนเราว่าเรื่องของศิลปะนี่ไม่ต้องไม่เคร่งเรื่องทฤษฎีนักหรอก ขอแค่เราพอใจก็พอแล้ว
รู้ตัวอีกทีก็ปาเข้าไปบ่ายแก่ๆ แล้ว แต่ยังชมไม่ทั่วเลย ยังเหลืออีกตั้งหลายจุด ท่านใดที่ยังไม่เคยมาชมก็ขอเชิญ รับรองว่าไม่ผิดหวัง มาก็ง่ายแสนง่าย ถ้าใครมาเขาดินถูกก็เจอแหละครับ เดินขึ้นมาเกือบๆ ถึงแยกการเรือน ตรงแถวๆ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตนั่นแหละครับ คนไทยเจ้าของประเทศเสียค่าเข้าชม ๗๕ บาทถ้วน จะไปชมก็แต่งกายสุภาพเสียหน่อย หรือถ่ายไม่สะดวกจริงๆ ที่นั่นเขามีผ้านุ่งให้เปลี่ยนขอรับ สวยเสียด้วยสิ
ทางขึ้นพระที่นั่งวิมานเมฆ ภายในเขาห้ามถ่ายภาพ แต่หลังจากเข้าชมแล้ว
สามารถออกมาถ่ายได้บริเวณภายนอกพระที่งนั่ง
พระที่นั่งหลังนี้สร้างจากไม้สักทั้งหลัง เป็นศิลปะของทางยุโรป
แต่ก็ยังมีลักษณะไทยๆ แซมอยู่ด้วย
ลักษณะภายนอกจะดูหรูหรา โอ่อ่า มุขตรงนี้สร้างเป็นเหลี่ยม เป็นพิมพ์นิยมของสมัยโน้น
และที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของทุกพระที่นั่งจะมีการเล่นลายฉลุประดับอยู่
อย่างพระที่นั่งวิมานเมฆก็จะมีลายฉลุบริเวณเฉลียงและช่องลมทุกชั้น
ที่เห็นเป็นเสาไกลๆ นั่นเป็นส่วนของโถงที่ไว้จัดแสดงละครหรือการละเล่นต่างๆ
ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดูโอ่โถงมาก
บังเอิญว่าข้างในเขาห้ามถ่ายภาพ จึงออกมาซูมจากด้านนอก
พระตำหนักสวนบัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สรางเพื่อพระราชทานแด่
พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ฯ ซึ่งทรงดูแลพระเครื่องต้น
ทรงมีพระปรีชาด้านการปรุงอาหาร ปัจจุบันใช้จัดแสดงศิลปวัตถุต่างๆ
ที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสต่างๆ
พระตำหนักสวนหงส์ หลังนี้งามมาก สีเขียวทั้งหลัง ประดับด้วยแผ่นไม้ฉลุลาดลายทั้งหลัง
แบบนี้เขาเรียกว่า ลายขนมปังขิง(gingerbread)
ด้านหลังพระที่นั่งเป็นอาคารจัดแสดงรถพระที่นั่ง
ดูกันชัดๆ ลวดลายฉลุไม้ที่ประดับ มีเห็นกันทุกพระตำหนักที่นี่
ทุกหลังรับอิทธิพลสถาปัตยกรรมของอังกฤษในสมัยวิคตอเรียน
อันนี้เป็นตั๋วเข้าชม ด้านหลังเขาจะมีรายชื่อพระตำหนักต่างๆ
พอเราเข้าชมพระตำหนักหลังไหน เจ้าหน้าที่ก็จะประทับตราให้
ไม่แน่ใจว่าถ้าประทับตราจนครบจะเอาไปแลกของรางวัลได้ไหมหนอ
เดินชมอยู่เพลินๆ ก็เจอแขกไม่ได้รับเชิญ (มุมขวาล่าง)
แซวกันว่าสงสัยจะหลงมาจากอาคารข้างๆ
อาจจะโดนท่านนายกฯ ปรับออกเลยน้อยใจหลบออกมา
ไปมาแล้วสวยมาก
ใหญ่มาก
ถ้ามีโอกาสคงไปรอบ
แวะมาชม ยังไม่เคยไปเลย อยากไปแต่ติดนั่นนี่(ข้ออ้าง) สงสัยต้องไปเสียทีแล้ว