ช่วงนี้สับสนทางจิตใจ ชีวิตไม่ใคร่สงบสุข ไม่มีสมาธิ จึงอยากจะออกไปเที่ยวเข้าวัดเข้าวาเผื่อจิตใจจะสงบ อีกทั้งยังได้โอกาสเที่ยวชมวัดสวยๆ เพิ่มมูลค่าชีวิตให้ตัวเอง รู้ก็รู้ เรียนก็เรียน แต่หาเวลาว่างไปชมไม่ได้ซักที สัปดาห์นี้ถึงคิวของวัดโพธิ์
สมัยอยู่สวนฯ เดินผ่านประจำแต่ก็ไม่ใคร่สนใจนัก วัดโพธิ์ ที่เราๆ รู้จักกัน เดิมชื่อ วัดโพธาราม สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกให้เป็นวัดประจำรัชกาลและพระราชทานนามว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชนามว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (คำว่า ราชวรมหาวิหาร หมายถึงเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง หรือทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์) วัดโพธิ์ไปแสนง่ายมีรถเมล์ผ่านหลายสาย อยู่ติดกับวัดพระแก้ว ถ้าไปแล้วก็ได้แวะเที่ยวทั้งสองวัดได้เลย
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดขึ้นใหม่ พร้อมทั้งสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร และพุทธสถานต่างๆ ต่อเนื่องมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งแต่ละรัชสมัยก็มีการสร้างและบูรณะวัดอย่างมากมาย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้บันทึกความรู้และตำราต่างๆ ลงแผ่นหินอ่อนและฝังไว้ตามระเบียง กำแพง ตามจุดต่างๆ ทั่วทั้งวัด เพื่อเป็นการเก็บรักษาและเผยแพร่วิชาความรู้ต่างๆ ให้แก่ประชาชน จนวัดโพธิ์ได้รับการยกให้เป็นเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ ความรู้ต่างๆ นั้นประกอบไปด้วยสรรพวิชาทั้งประวัติศาสตร์ วรรณคดี การแพทย์ โหราศาสตร์ ที่รู้จักกันดีก็คือรูปปั้นฤาษีดัดตน ซึ่งท่าต่างๆ เหล่านั้นก็แสดงถึงการรักษาอาการเจ็บป่วยในลักษณะต่างๆ อันเป็นที่มาของบริการนวดแผนโบราณอันขึ้นชื่อเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกของวัดโพธิ์นี่เอง
ภายในวัดดูจะคับแคบไปถนัดตา ด้วยความที่เต็มไปด้วยพุทธสถานต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะเจดีย์ จนได้ชื่อว่าเป็นวัดที่มีเจดีย์มากที่สุดในประเทศ มีคนนับไว้แล้วว่าทั้งหมดมีถึง ๙๙ องค์ ไม่เพียงแต่เจดีย์ แต่ยังมีพระวิหารอีกอย่างน้อย ๕ หลัง และยังมีพระพุทธรูปจำนวนมากประดิษฐานเรียงรายอยู่รอบวัด นับๆ ดูแล้วไม่น่าจะน้อยกว่า ๑๐๐ องค์ (เขาว่ามีถึง ๑,๐๐๐ องค์) โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้อัญเชิญมาจากวัดร้างต่างๆ ทางภาคเหนือและภาคกลางมาประดิษฐานไว้ เมื่อครั้งที่บูรณะวัดแห่งนี้ใหม่ๆ
ถ้าเข้ามาจากฝั่งสวนเจ้าเชตุ จะพบกับ วิหารพระพุทธไสยาสน์ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ (ใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศ) พุทธลักษณะงดงาม ที่โดดเด่นคือที่ฝ่าพระบาทจะสลักลวดลายเป็น ๑๐๘ มงคล อันเป็นคติความเชื่อที่ได้รับมาจากชมพูทวีป
ตัดเข้ามาหน่อยจะพบกับเจดีย์ขนาดใหญ่สีสันสวยงาม เรียกว่า มหาเจดีย์สี่รัชกาล อยู่ภายในกำแพงแก้วมีซุ้มประตูตกแต่งด้วยศิลปะแบบจีนผสมไทย มีพระพุทธรูปจำนวนมากเรียงรายอยู่ภายใน ตัวเจดีย์เป็ยแบบย่อมุมไม้ยี่สิบ (ไว้คราวหน้าจะเขียนถึงว่ามันคืออะไร) ที่โดดเด่นอย่างมากไม่เฉพาะเจดีย์เท่านั้นแต่รวมไปถึงสถาปัตยกรรมทุกแห่งภาย ในวัดจะประดับด้วยกระเบื้องเคลือบประกอบเป็นลวดลายต่างๆ อย่างสวยงาม อย่างมหาเจดีย์สี่รัชกาล (รวมถึงเจดีย์องค์อื่นๆ) จะประดับไปด้วยกระเบื้องเคลือบสีสวยๆ ชิ้นเล็กๆ เป็นลวดลายทั้งลายเครือเถา ลายดอก เป็นศิลปะที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีน
ที่จะลืมไปไม่ได้คือสัญลักษณ์ของวัดโพธิ์ที่ใครมาเยี่ยมชมต้องเจอคือ รูปปั้นหินขนาดใหญ่ที่สลักเป็นรูปนักรบจีน มีประดับตามซุ้มประตูทั่วทั้งวัด นับๆ ดูก็ไม่น่าจะต่ำกว่า ๑๐๐ ตัวเช่นกัน มีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ไม่เพียงเฉพาะรูปนักรบ แต่มีทั้งรูปคน รูปเด็ก รูปสัตว์ต่างๆ เป็นที่สนใจของบรรดานักท่องเที่ยวทั้งหลาย
และที่ทุกท่านเคยได้ยินมาเรื่องของตำนานที่เขาเล่าว่ายักษ์วัดโพธิ์กับยักษ์วัด แจ้งนัดกับมาประลองฝีมือกัน จนพื้นที่แถบนั้นพังราบเป็นหน้ากลอง จึงได้ชื่อว่า ท่าเตียน ยักษ์วัดแจ้งน่ะพอเข้าใจแต่ยักษ์วัดโพธิ์นั้นใครๆ ก็จินตนาการเอาว่าเป็นพวกตุ๊กตาหินสลักนักรบจีนนี้แน่ๆ ความจริงแล้วไม่ใช่ ยักษ์วัดโพธิ์ที่ว่านี้มีลักษณะเหมือนยักษ์ไทยที่เราคุ้นเคยกันดีใน รามเกียรติ์ที่เขาเอามาแสดงโขนกันนั่นแหละ เพียงแต่ไปอยู่ตามซุ้มประตูทำให้มองเห็นไม่ชัดเหมือนยักษ์จีนที่มีอยู่ทั่ว วัด เราเลยเข้าใจผิดกันไปทั่ว
ส่วนที่มาของยักษ์จีนเหล่านี้มาจากสำเภาจีนในสมัยรัชกาลที่สาม โดยใส่มาในสำเภาเพื่อถ่วงน้ำหนักไม่ให้เรือเบาเกินไป พอจะกลับเมืองจีนก็ขนสินค้าจากไปทยกลับไปแล้วก็ทิ้งยักษ์จีนเหล่านี้เอาไว้ จึงโปรดฯ ให้นำมาตั้งไว้ที่วัดโพธิ์
วันที่ไปนี้บังเอิญเขามีพิธีอะไรสักอย่างภายในพระอุโบสถจึงไม่สามารถเข้าไปสักการะพระพุทธเทวปฏิมากร และช่วงนี้เขามีการปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ ทำให้บรรยากาศขัดอารมณ์เล็กน้อย หลายๆ แห่งถูกปิดเข้าไปชมไม่ได้ พอจะถ่ายภาพก็จะติดผ้าใบ ติดอุปกรณ์ช่างมาด้วย แต่ก็เข้าใจล่ะว่าเขากำลังปรับปรุงเพื่อให้วัดกลับมาสวยงามดังเดิม ซึ่งตรงนี้ข้าพเจ้าเห็นด้วยเลย ใครที่ไปเยี่ยมชมช่วงนี้ก็อดทนหน่อยนะขอรับ
อีกอย่างหนึ่งที่มีชื่อเสียงของที่นี่คือโรงเรียนนวดแผนไทยที่ขึ้นชื่อไปทั่ว โลก นักท่องเที่ยวบางท่านมาเพื่อนวดโดยเฉพาะ จำได้ว่าเมื่อก่อนเป็นอาคารง่ายๆ เปิดโล่ง เดี๋ยวนี้เขาทำเป็นอาคารปิดกระจก ติดแอร์เย็นสบาย กะจะแวะเข้าไปดูซักหน่อยปรากฏว่าคนเพียบ คิวยาวเหยียด โดยเฉพาะชาวต่างชาติ ท่าทางเขาชอบเอามากๆ เดินยิ้มออกมาหน้าแช่มกันทุกคน สนนราคารู้สึกจะแบ่งเป็นสองเกรดสำหรับชาวไทยและชาวต่างชาติ คนนวดก็เป็นบรรดานักเรียนที่มาเรียนวิชากันแหละครับ มีทั้งคนหนุ่มสาวและคนสูงอายุ แต่เห็นเขาว่าถ้าเป็นพวกคุณป้าคุณลุงจะฝีมือเยี่ยมกว่า อันนี้ต้องลอง
ท่านที่สนใจเดินทางไปเยี่ยมชมกันขอรับ เขาเปิดเข้าชมได้ทุกวันตั้งแต่ ๙ โมงเช้า คนไทยเข้าฟรีถ้าเป็นชาวต่างชาติก็เสียค่าเข้าชมนิดหน่อย ๕๐ บาทเองขอรับ
มหาเจดีย์สี่รัชกาล อยู่ติดกับพระอุโบสถ เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่สีสวยงามมาก
ยิ่งดูใกล้ๆ จะเห็นเป็นกระเบื้องเคลือบชิ้นเล็กๆ ประกอบเป็นลวดลาย
ทั้งสี่องค์จะมีลวดลายและสีสันที่ต่างกัน
มหาเจดีย์สี่รัชกาล กระเบื้องเคลือบประกอบเป็นลายต่างๆ เป็นรูปดอกไม้สีสันสวยมาก
แล้วเจดีย์แต่ละองค์ก็มีลายต่างๆ กัน ดูแล้วนึกถึงเจดีย์ที่วัดเจ็ดยอด ที่เชียงใหม่
มีรูปดอกไม้ประดับด้วย แต่ที่วัดเจ็ดยอดเป็นปูนปั้น ตอนนี้เหลือที่สมบูรณ์ที่สุดแค่ดอกเดียว
ที่เหลือผุกร่อนไปตามเวลา และก็ถูกพวกใจหมาแอบกระเทาะออกไปขาย
กระเบื้องเคลือบประดิษฐ์เป็นรูปไก่ ออกมาเป็นตัวๆ เลย สวยมาก
ฝีมือต้องเยี่ยมจริงๆ ถึงทำได้ อันนี้ติดอยู่เหนือซุ้มประตูทางเข้าวิหาร ไม่ค่อยมีใครสังเกตเห็น
พระพุทธรูปนับร้อยองค์นำมาประดิษฐานไว้รอบๆ วัด มุมนี้อยู่ภายในกำแพงแก้วบริเวณมหาเจดีย์สี่รัชกาล
มีแทบทุกปาง แต่ละองค์อยู่ในสภาพสมบูรณ์
มีสฟิงส์เมืองไทย หรือหมาวัดนั่นแหละ มอบเฝ้าอยู่เป็นระยะๆ
ไม้ค้ำบุญ ไปเจอเอาในบริเวณศาลพระโพธิสัตว์
เคยเห็นตามวัดที่ภาคเหนือ ชาวบ้านจะเอาไม้ไผ่ยาวๆ ไปพิงไว้ที่ต้นโพธิ์ภายในวัด
เป็นเหมือนการสะเดาะเคราะห์ เขาเชื่อกันว่าจะช่วยค้ำจุนชีวิตให้ประสบโชคและทำให้อายุยืน
พระพุทธไสยาสน์ขนาดมหึมา สวยงามมาก
เป็นจุดที่แทบทุกคนต้องเข้าไปสักการะ ภายในพระวิหารมีจิตกรรมฝาผนังโดยรอบ
พระพุทธโลกนาถ พระประธานในพระวิหารทิศตะวันออก
เชื่อกันว่าเดิมทีประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ ที่พระนครศรีอยุธยา
หลังจากย้ายราชธานีมายังกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
โปรดฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดโพธาราม
ตุ๊กตาหินจีนเห็นได้ทุกมุมของวัด ไม่เฉพาะรูปนักรบแต่ยังมีรูปอื่นๆ มากมาย
ทั้งรูปบัณฑิต ขุนนาง รูปชาวบ้าน หรือรูปสัตว์ต่างๆ
หลายตัวเสียหายไปมาก มีร่องรอยการซ่อมแซมทั่วไป
แล้วก็เจอจนได้ ดาบปลายทวนของนักรบจีนตัวหนึ่งหักสะบั้น
ถูกแอบไว้มุมกำแพงหลังกระถางต้นไม้ ข้างๆ ห้องน้ำ!
ไม่รู้ใครขี้เล่น เอาไม้กวาดไปใส่มือตุ๊กตา (ข้าพเจ้าไม่ได้ทำนะ)
ดูไกลๆ นึกว่าตุ๊กตากำลังกวาดวัด!
Pingback: ย่อไม้ / ย่อมุม / ย่อเก็จ «